การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๖
----------------------------------------------------------------------------------

เรื่องการฝึกสติให้ระลึกรู้เป็นปัจจุบัน เราได้พูดกันมา ๔ อาทิตย์แล้ว เป็นวิธีการฝึก ๖ ประการด้วยกัน วันนี้เราจะ
ได้แนะนำการฝึกสติประการที่ ๗ คือ การฝึกสติให้ระลึกรู้เป็นปัจจุบันทางจิต จิตในที่นี้ หมายถึงวิญญาณก็ได้ จิตก็ได้
ใจก็ได้ คือการระลึกรู้อันเป็นหน้าที่หรือคุณสมบัติของจิตนั่นเอง จิตนั้นตามปรมัตถธรรม แบ่งออกเป็น ๘๙ ดวง
แต่ในขั้นนี้เราไม่จำเป็นต้องไปรู้มันเช่นนั้น เรารู้ในขณะนี้เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไร สติของเราจึงจะสามารถระลึกรู้
ให้เป็นปัจจุบันได้ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า การปฏิบัติธรรมขั้นสูงนั้น สติเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ทั้งนี้เพราะเหตุใด เพราะว่าเท่าที่
ผมผ่านมาหรือมีประสบการณ์มานั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของสติ มีบางแห่ง
ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ผมได้ฟังเทปถึงการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงคือกลายเป็นผู้วิเศษไปนั้น เขาพยายาม
ที่จะทำลายสติให้หมดไป คือให้จิตของตนนั้นตกอยู่ในภวังคจิต เพื่อสามารถได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ยังความสงบให้เกิดขึ้น
ไม่ทำกิเลสให้ลดน้อยลง แต่เป็นการเพิ่มกิเลสพอกพูนกิเลสให้มีมากขึ้น
ฉะนั้นพวกเราที่หากผู้ใดได้ประสบพบ
เห็นในกรณีเช่นนี้ จงระลึกรู้อยู่เสมอว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูกประการใด เพราะพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม
พุทธเจ้าในเรื่องของการสร้างกุศลนั้น ไม่ว่ากุศลในขั้นไหน สติเป็นตัวสำคัญ เป็นองค์ประกอบอันสำคัญยิ่ง ทั้งนี้เพราะ
เหตุว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในเรื่องของหลักกรรมว่า เจตนานั่นแหละคือกรรม ถ้าไม่มีเจตนาแล้วหาเป็น
กรรมไม่ เจตนาในที่นี้เป็นได้ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม สำหรับเรื่องอกุศลกรรมนั้นผมจะไม่พูดถึง ผมจะนำมาให้พวกเรา
ได้พิจารณาเฉพาะกุศลกรรมเท่านั้น
กุศลกรรมนั้นถ้าประกอบด้วยเจตนา ๔ คือ เจตนาก่อนทำกรรมนั้น ๑ เจตนาในขณะที่กำลังทำกรรมนั้น ๑
เจตนาที่ทำกรรมนั้นเสร็จใหม่ ๑ เจตนาหลังจากที่ทำกรรมนั้นเสร็จไปนานแล้ว ๑
เจตนาในที่นี้จะต้องเป็น
มหากุศลจิต ๘ ดวง ดวงใด ดวงหนึ่ง แล้วแต่บุญกุศลของผู้นั้น วาสนาบารมีของผู้นั้น ถ้าผู้ใดยังจิตให้เกิดเป็นมหา
กุศลจิตดวงต้นๆ ได้ ผลบุญและกุศลของผู้นั้น ก็ย่อมจะมีมากกว่าจิตที่เป็นมหากุศลตัวปลายๆ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ มหากุศล
จิตที่เกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องอาศัย ศรัทธา คือความเชื่อด้วยเหตุด้วยผล ในพระพุทธศาสนาไม่สอนให้ใครงมงาย สอนให้
เชื่อด้วยเหตุด้วยผล และหลักการสร้างกุศล เราลองพิจารณาดู
กุศลขั้นต้น เรียกว่า กามาวจรกุศล หรือ บุญกิริยาวัตถุ ๑0 อันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ลองสิ ถ้าขาดสติ
แล้ว กุศลเช่นนั้นจะสามารถสร้างขึ้นได้หรือไม่ ทำน่ะทำได้ แต่ผลมันจะออกมาเป็นประการใดไม่รู้
ในลำดับที่ ๒ ในการทำจิตให้สงบ ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า สัมมาสมาธิ อันได้แก่ สมถกรรมฐาน ๔0 วิธี นั้น ถ้าเรา
ขาดสติเสียตัวหนึ่งแล้ว เราจะสามารถสร้างได้หรือไม่ ไม่มีโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสงบที่ทำจากลมหายใจ ชื่อ
บอกอยู่แล้วว่าอานาปานสติ อานาปานะ ลมหายใจเข้าออก สติ ก็คือ สติเจตสิกอันเป็นโสภณเจตสิกนั่นเอง ถ้าขาดสติเสีย
ตัวหนึ่งแล้ว ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะสร้างความสงบให้เกิดขึ้นแก่จิตได้ นี่เป็นขั้น รูปาวจรกุศล หรือ อรูปาวจรกุศล
ทีนี้ในขั้น โลกุตตรกุศล อันเป็นกุศลอันสูงสุด ซึ่งเรียกกัน โดยทั่วไปว่า วิปัสสนา หรือในทางปฏิบัติเรียกว่า มหาสติ
ปัฏฐาน ๔
นี่มหาสติก็หมายความว่า สติอย่างมโหฬาร ฉะนั้นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทางศาสนาพยายามทำลายสติให้มันหาย
ไป เพื่อให้จิตนั้นตกอยู่ในภวังค์ ผิดหรือถูกต้องในหลักการของพุทธศาสนา โปรดคิดเอาเอง
ในวันนี้เราจะได้เริ่มพูดกันถึงเรื่อง การฝึกสติให้มีการระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมทางจิต การฝึกสติให้มีความระลึก
รู้ทางจิตนั้น ถ้าเราจะพิจารณากันจากมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว เราจะเห็นได้ว่ามีอยู่ ๑๔ วิธีการด้วยกัน ดังต่อไปนี้คือ
เมื่อมีความใคร่เกิดขึ้น ความใคร่นั้นคือ กามฉันทนิวรณ์ นั่นเองเกิดขึ้น กามฉันทนิวรณ์นั้นเราจะรู้ได้ ความจริง
ที่เกิดขึ้นนั้น รู้ได้ทางจิตเท่านั้น เราไม่สามารถจะรู้ได้ทางอื่นเลย ฉะนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นเพื่อเป็นการสอนสติ สั่งสอนสติ
ให้มันระลึกรู้ว่า สิ่งนี้เป็นความใคร่เกิดขึ้นแล้ว เราก็กำหนดบริกรรมขึ้นว่า ความใคร่รู้ทางใจหนอ ความใคร่รู้
ทางใจหนอ ความใคร่รู้ทางใจหนอ
เราสั่งสอน เราฝึกมันในเบื้องต้นให้รู้เช่นนี้ เราปลุกสติให้มันตื่น พุทธศาสนา
ถือสำคัญยิ่งว่าสตินั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จะขาดเสียมิได้ ฉะนั้นเราเห็นหลักการที่เขาทำลายสตินั้น เป็นการผิดหรือถูก
ก็พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน เพราะว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราจะเปิดดู ไม่ว่าพระสูตรก็ดี ในพระอภิธรรม
ก็ดี ส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องสติทั้งนั้น ถ้าไม่มีสติเป็นพื้นฐานแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะจัดการกับจิตให้บรรลุล่วงไปได้ ฉะนั้น
สิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นหลักการในการพิจารณาเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็เป็นรื่องการทำ
ให้สติระลึกรู้ ๔ ทางด้วยกัน คือ หนึ่งทางกาย ซึ่งเราได้พูดกันมาแล้ว ไม่ว่าทางลมหายใจเข้าออก ไม่ว่าทางอิริยาบถ ๔
ไม่ว่าทางสัมปชัญญะ อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่เรื่องทางกาย และทางเวทนาเป็นประการที่ ๒ ซึ่งเราพูดกันมาแล้ว เวลา
นี้กำลังพูดกันในเรื่องทางจิต นี่ ฉะนั้นจึงรู้คุณค่าของสติ เมื่อมีความรู้สึกความใคร่เกิดขึ้นเช่นนี้ เราต้องกำหนดบอก
สั่งสอนสติ เพราะจงจำไว้ว่าแม้แต่อายุของเราป่านนี้แล้วก็ดี สตินั้นเปรียบเสมือนมันเป็นเด็ก ทำไมผมจึงพูดว่ามันเป็นเด็ก
จริงอยู่มันเกิดมาพร้อมกับร่างกายของเราซึ่งเรียกว่า กัมมชรูป ที่ว่าผมว่ามันเด็ก เพราะว่าหลายวัฏฏะที่เราต้องเวียนว่าย
ตายเกิดจนนับชาติไม่ถ้วนมาแล้วนั้น เพราะเราไม่เคยฝึกสติ ไม่ได้ทำสติให้มันระลึกรู้ การฝึกสติหรือทำสติให้ระลึกรู้
มีด้วยกันแต่เฉพาะแต่ในเรื่องกุศลกรรมเท่านั้น อย่างอื่น อย่าลืมนะ บางคนเถียงว่าถ้าฉันไม่มีสติจะยิงเขาถูกหรือ อ้ายนั่น
ไม่ใช่ ไม่ใช่สติ มันตัวโทสะ ไม่ใช่สติ สติไม่ทำหน้าที่เลวระยำอย่างนั้น สติทำหน้าที่อย่างเดียว ระลึกรู้ในความถูก คือมันเป็น
ความสว่างเพราะมันเป็นโสภณ ดังนั้นเราอย่าลืมว่าคนเราคนหนึ่งๆ นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจำแนกจิตไว้เป็นถึง
๘๙ ดวง ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น เพราะพระองค์จำแนกว่า เลวก็มี ดีก็มี แล้วแต่พี่เลี้ยง นั่นคือเจตสิก สติตัวนี้เป็นเจตสิก
ตัวหนึ่ง เมื่อมันมีพี่เลี้ยงที่ดีแล้ว ขณะนั้นอ้ายความชั่วมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ความจริงนั้น จิตของเรานั้นมันทำหน้าที่เพียงรับ
รู้เท่านั้น รับรู้อารมณ์เท่านั้น แต่ความดีหรือความชั่วมันแล้วแต่ผู้ยุยงส่งเสริม นั่นคือเจตสิกนั่นเอง ฉะนั้นสมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าจึงจัดเจตสิกที่เหลือจากสัญญาก็ดี เวทนาก็ดี ซึ่งเหลืออีก ๕0 ดวงนั้นเป็น สังขารขันธ์ เป็นตัวที่ทำให้เกิดกุศล
หรืออกุศลให้กับจิตของผู้นั้น เพื่อให้เขาก่อขึ้นเป็นบุญหรือบาปก็ได้ ฉะนั้นเรื่องสตินับว่าสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเราขาดสติเสียแล้ว
เราจะไม่มีโอกาสได้ประพฤติธรรมได้ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงปฏิเวธได้เลย เราอย่าลืม จงดูตัวอย่างเราหลายๆ คน แม้แต่
ในหมู่พวกเรานี้ บางคนในอดีตของเขานั้นได้เข้าประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม บางคนก็ทำกามาวจรกุศล บางคนก็ทำรูปา
วจรกุศล บางคนก็ทำโลกุตตรกุศล แต่เขาทำผิดๆ ที่ว่าผิดๆ นั่นเพราะเหตุใด เพราะเขาไม่ได้เห็นความสำคัญของสติ
เขาไม่รู้จักฝึกสติให้มันรู้สึกตัวขึ้นก่อน เขาจึงทำกุศลเหล่านั้นไปด้วยความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง
ฉะนั้นผลแห่งการปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่าปฏิเวธมันจึงไม่เกิด นี่ ทำไมพวกเราแต่ละคนเข้ามา มีคนไหนบ้างที่ไม่สามารถทำ
สมาธิให้เกิดขึ้นได้ นั่นคือถ้าเราปฏิบัติแล้ว ปฏิเวธย่อมเกิด คือ ผลของสมาธิต้องเกิด เพราะอะไร เพราะเราฝึกสติให้
มันรู้ตัวเสียก่อน เราไม่ได้ไปทำลายสติเหมือนอย่างคนอื่นเขาทำ เพื่อความเป็นผู้วิเศษหรืออะไรต่างๆ พระธรรมคำสอน
ไม่ได้สอนเช่นนั้น นั่นมันคนละเรื่องคนละราว ฉะนั้นเราจงทนุถนอมรักษามันไว้ซึ่งสติ อย่าให้มันสูญหายไป
เมื่อเราได้พูดกันมาถึง เมื่อมีความใคร่เกิดขึ้นแล้ว ต่อไปนี้เมื่อความใคร่หายไป เมื่อความใคร่หาย ไป มันรู้ยังไง
มันก็รู้ได้ทางจิตอีก เมื่อมันหายไป เช่นนี้ เราก็กำหนดจิตให้สติมันได้ระลึกรู้ว่า ความใคร่หายรู้ทางใจหนอ
ความใคร่หายรู้ทางใจหนอ ความใคร่หายรู้ทางใจหนอ
โดยกำหนดสติให้มีความระลึกรู้ตามความเป็น
จริงให้เป็นปัจจุบันธรรมเช่นนี้ เราฝึกมันเช่นนี้ เราหัดมันเช่นนี้ จนกว่าสตินั้นมันจะมีความสามารถยืนได้ด้วยขาของมันเอง
นั่นคือ การระลึกรู้ได้ด้วยตัวของมันเองโดยเราไม่ต้องกำหนดให้มันรู้ มันก็รู้ เราจึงจะเลิกกำหนดพอมันรู้แล้ว พวกเรา
จะรู้สึกภาคภูมิใจว่า เอ้อ สตินั้นมันอยู่กับเรามาตลอดชีวิต เราไม่เคยฝึกไม่เคยหัด เมื่อมาฝึกมาหัดเช่นนี้ มันมีความระลึก
รู้เช่นนี้ มันเกิดประโยชน์มหาศาล ทำไมผมบอกว่าเกิดประโยชน์เช่นนั้น แม้แต่เวลาที่เรามีความโกรธเกิดขึ้น สติมัน
จะดึงเราทันทีเลย แล้วเราก็จะหายโกรธ แต่ก่อนนี้เราจะโกรธเป็นแรมเดือนแรมสัปดาห์หรือแรมวัน ถ้าเรา
ฝึกสติให้มันระลึกรู้แล้ว มันจะมีความโกรธอย่างมากก็เพียงนาทีเดียวหรือ ๒ นาทีเท่านั้น หาย นี่ เพราะสติ
มันบอกว่าอ้ายนั่นมันเป็นอย่างนั้น อ้ายนั่นมันเป็นอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนั้น มันจะสั่งสอนเราเอง ไม่ต้องกลัว
เราลงทุนลงแรงกันในขั้นต้นเพื่อสั่งสอนให้สติมันระลึกรู้ เมื่อสติมันระลึกรู้แล้ว ถ้าเราทำความชั่วหรืออกุศลจิตเกิดขึ้นแล้ว
สติมันก็จะสั่งสอนเราตามกำลังที่มันได้รับที่เราสั่งสอนมันไว้ มันเป็นการคุ้มค่าและกำไรอย่างเหลือหลายในชีวิตของเรา
นอกจากนั้นมาพูดกันถึงเรื่องของ ความโกรธ ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นนั้น มันไม่ได้แสดงออกมาทางไหน อย่างเรามี
ความโกรธเกิดขึ้น เราไปชกหน้าเขา อ้ายการชกหน้ามันเกิดขึ้นทีหลัง ความโกรธมันเกิดขึ้นเรารู้ได้ทางใจก่อน เมื่อ
ที่เราไปชกหน้าเขานั้นน่ะ เพราะว่ามันไม่มีสติยับยั้ง เพราะมีแต่โทสะจริตเกิดขึ้น ฉะนั้นเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น เราก็
กำหนดให้สติมันระลึกรู้ว่า โกรธรู้ทางใจหนอ โกรธรู้ทางใจหนอ โกรธรู้ทางใจหนอ บอกมันเช่นนี้ สอนมัน
เช่นนี้ ทุกครั้งที่เรามีความโกรธ เราสอนมันเช่นนี้ และเมื่อสติระลึกรู้เช่นนั้นแล้ว เมื่อภายหลังเรามีความโกรธเกิดขึ้น
สติมันจะเตือนใจเรา สักครู่เดียวมันก็จะหายความโกรธไป เราก็ไม่ล่วงที่จะทำความผิดทางกายและทางวาจา เราสังเกตดู
คนที่เขาด่าพ่อล่อแม่ ด่าทอกัน ก่นโคตรกันเช่นนั้น ถ้าเขาไม่โกรธเขาด่ากันไม่ได้ และยิ่งเมื่อทำกรรมทางวาจายังไม่สะใจ
แล้ว มันก็ต้องถึงลงไม้ลงมือ ชกตีรันฟันแทง บางทีก็ถึงตายกัน นั่นอะไร เพราะความโกรธใช่หรือไม่ ทำไมความโกรธ
มันถึงเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเขาขาดสติระลึกรู้นั่นเอง เห็นไหมว่าเรามีสติเพียงเท่านี้ มันก็ป้องกันการติดคุกติดตาราง
สติตัวเดียวเท่านั้นที่จะต้องป้องกันการติดคุกติดตาราง มิให้ความโกรธทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อสติมันโผล่เรารู้แล้ว
นี่ว่าความโกรธนั้นเป็นโทสเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลธรรม แต่สตินั้นเป็นโสภณเจตสิก คือฝ่ายข้างดีงาม เมื่อฝ่ายดีงามซึ่งเป็น
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว ความโกรธนั่นดุจจะความมืด มันก็ต้องหายไป นี่เป็นหลักของธรรมชาติ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สอน สอนด้วยหลักการที่มีเหตุมีผลไม่ใช่สอนด้วยความงมงาย อย่างที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้นว่าเขาพยายามที่จะทำลายสติ
ให้หมดไป เพื่อให้จิตตกอยู่ในภวังค์เช่นนั้น ซึ่งมันเป็นวิธีที่ผิดแผกแตกต่างไปจากหลักการของพระพุทธศาสนา เมื่อเรา
มีความโกรธเกิดขึ้นแล้วเราก็บอกสติให้มันรู้ มันจะได้เตือนเราทีหลัง
ทีนี้เมื่อเวลา โกรธหาย ล่ะ เราอย่าลืมว่าความโกรธนั้นมันเป็นนามธรรมตัวหนึ่ง แม้แต่ขณะนี้ผมยังไม่ได้แนะนำให้
พวกเราทั้งหลายได้รู้จักรูปรู้จักนามก็ตาม แต่อย่าลืมว่าความโกรธนั้นมันเป็นนามตัวหนึ่ง สิ่งใดทั้งหมดในโลกนี้และในตัวเรา
มันมีรูปอย่างหนึ่ง นามอย่างหนึ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอน nature ของรูปนามให้เรารู้ไว้แล้วว่า เมื่อมันมี
ความเกิดเกิดขึ้น มันก็ต้องมีความดับเป็นของคู่กันเป็นธรรมดา เช่นเดียวกันกับความโกรธ เมื่อมันเกิดขึ้นได้มันก็ต้องดับ
ไปได้ เมื่อดับไปได้ เราอย่า อย่าไปปล่อยให้มันดับเฉยๆ เราจงทำประโยชน์ให้มันเกิดแก่สติ โดยเราสอนสติให้รู้ว่า
หายโกรธรู้ทางใจหนอ หายโกรธรู้ทางใจหนอ หายโกรธรู้ทางใจหนอ เราสอนมันเช่นนี้ สติมันจะได้
compare ให้เราเห็นว่าความโกรธนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร การหายโกรธนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร
เป็นความละเอียดละออของสติจะได้มีความระลึกรู้ มีความจดจำเอาไว้ เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น มีความโกรธ
หายไป คือการดับของความโกรธนั่นเอง เมื่อความโกรธหาย เราก็ต้องบอกสติให้รู้ ฉะนั้นเมื่อความโกรธเกิดขึ้น
และเวลาความโกรธหายไป ถ้าเราสรุปแล้ว มันจะสอนสติให้รู้จักการเกิดการดับของความโกรธนั่นเอง ไม่ใช่อะไรเลย
แต่เราแยกสอนมันทีละตัว ทีละตัว ทีละตัว เช่นนี้ จนกว่ามันจะมีความเฉลียวฉลาด มันจะได้คอยตักเตือนสั่งสอนเรา
เราอย่าลืมว่าธรรมชาตินั้น ถ้ามีการตักเตือน มีการสั่งสอนกันอยู่ทุกวัน เสมอๆ แล้ว ผลมันก็ต้องถึงจุดหมายสักวันหนึ่ง
เราจงนึกถึงความจริงของพวกเราในที่นี้ ถ้าเราได้มีเพราะว่าเราได้พบปะเจอะเจอกันด้วยความมีสติ ต่างคนก็ต่างไต่ถาม
ตักเตือน สอนกัน แนะนำกัน เราถึงได้ก้าวหน้ามาถึงแค่นี้ ถ้าเราไม่พบปะเจอะเจอกัน เราสังคมแต่คนที่หลงมัวเมาด้วย
โลภะ โทสะ โมหะ โดยขาดสติเช่นนั้น พวกเราก็คงจะไม่สามารถประพฤติปฏิบัติให้มีความสุขความสงบได้เพียงแค่นี้
นอกจากความโกรธแล้ว ต่อไปเราจะได้พูดกันถึงเรื่อง ความหลง เมื่อมี ความหลงเกิดขึ้น เราก็กำหนดให้สติรู้ว่า
โมหะรู้ทางใจหนอ โมหะรู้ทางใจหนอ โมหะรู้ทางใจหนอ โมหะนี่เป็นของที่เห็นได้ยาก
รู้สึกตัวได้ยาก เว้นแต่ผู้นั้นจะได้ฝึกสติต่างๆ มาแล้ว เราถึงจะสามารถรู้ได้ว่า มันเป็นความหลง เพราะตัวของมันก็บอกแล้ว
ว่าเป็นเรื่องของความหลง เพราะอ้ายความหลงนี่ มันแนบเนียนละเมียดละไมเหลือเกิน มันไม่ให้เรารู้สึกได้เลย ไม่ว่าใน
การทำกุศลหรืออกุศล มันจะเห็นดีเห็นงามเห็นชอบไปทุกอย่าง แม้แต่ในสิ่งที่ผิดๆ เพราะเหตุอะไร มันไม่เหมือนความโกรธ
เจ้าความโกรธ นี่มันเป็นตัวหยาบ แต่ความหลงนี่มันเป็นตัวละเอียดอ่อน ฉะนั้นถ้าเราไม่ฝึกสติให้ระลึกรู้ดีแล้ว เราจะไม่มี
โอกาสรู้ได้เลยว่าความหลงนั้นมันมีลักษณะเป็นอย่างไร อย่าลืมว่าอกุศลที่เกิดขึ้นจากความหลงก็คือ ความเป็นเดรัจฉาน
นั่นเอง เมื่อเราตายไปแล้ว นั่น ถ้าเราไม่อยากเป็นเดรัจฉานเมื่อเราตายลงไป เราก็ต้องปลุกสติให้มันระลึกรู้ อย่าให้มีความ
หลงเกิดขึ้นได้ในจิตใจของเรา เมื่อความหลงไม่เกิดขึ้นแล้ว เราก็ถึงความพร้อมซึ่งความสว่างไสวแห่งจิตใจของเรานั่นเอง
เราจำเป็นต้องเตือนมันไว้ในเรื่องนี้
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อความหลงเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป เมื่อความหลงหรือความงมงายหายไป แล้ว เราก็กำหนด
สติให้รู้ว่า โมหะหายรู้ทางใจหนอ โมหะหายรู้ทางใจหนอ โมหะหายรู้ทางใจหนอ เรากำหนดมันเช่นนี้
มันจะได้เป็นเครื่องเตือนเรา พวกเราส่วนใหญ่ยังมีความงมงายหรือความหลงนี่อยู่อีกไม่ใช่น้อย บางคนก็หลงใหลไป
ในทางอื่นซึ่งไม่ใช่ในหลักการของพระพุทธศาสนา นั่น ตัวโมหะนี่ทั้งสิ้น เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกสติมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
เช่นนั้น เราจึงเสียทีพลาดพลั้ง จนมาพูดมาเล่ากันมาวิจารณ์กัน มาเตือนกัน เราถึงจะมีสติระลึกรู้ว่าเราได้เสียที ตัวโมหะ
ทำให้เรางมงายมาชั่วขณะหนึ่งแล้วหนอ เมื่อเราได้ถูกเตือนสติกัน พูดกัน เจรจากัน พิจารณาธรรมกัน เราถึงได้รู้ว่า
อ๋อ ตัวนั้นเองเป็นความหลง แต่เรารู้ไม่เป็นปัจจุบันธรรม เรารู้มันผ่านมาแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ไม่ใช่หลักการที่ผมสอนคุณ
ผมต้องการสอนคุณให้คุณได้รู้เป็นปัจจุบันธรรม ถ้าสิ่งใดที่เรารู้เป็นปัจจุบันธรรมแล้ว ผลการประพฤติปฏิบัติเราก็ไม่ขาดทุน
ไปดังคนที่ไม่มีสติระลึกรู้ ซึ่งเราจะได้เห็นกันโดยทั่วๆ ไป ว่ามีพฤติกรรมเช่นนั้นเป็นของทั่วไป แต่ผู้ที่มีสติระลึกรู้เป็น
ปัจจุบันธรรมนั้น เป็นของที่หาได้ยาก ไม่เหมือนผู้ที่งมงายทั้งหลาย ฉะนั้นสติในที่นี้จึงเป็นของมีค่า ป้องกันมิให้เราเดินในทาง
ที่ผิด นั่นหมายถึงสร้างอกุศลให้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง เพราะความหลงนั้นมันเป็นเรื่องที่แลเห็นได้ยาก ฉะนั้นในปัญหา
เรื่องความหลงนี้เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพราะว่ามันเป็นตัวละเอียด เราจำเป็นต้องสั่งสอนสติ ความจริงนั้นท่านทั้งหลาย
อาจจะข้องใจว่า เอ๊ะ ความหลงเมื่อรู้ได้ยากแล้ว สติมันจะรู้ได้อย่างไร ท่านอย่าลืมว่าเราสอนมันมาถึง ๗ วิธีการแล้ว
มันก็คงจะเกิดขึ้นบ้าง ฉะนั้นเมื่อมันเกิดทางอื่น มันก็เกิดทางนี้เช่นเดียวกัน เพราะเราบอกไว้แล้วว่าหลักการสอนสติของ
เรานั้น เราจะสอนให้มันรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันจะเกิดประโยชน์ขึ้นได้ ในการที่มันจะได้ระลึกรู้ทุกๆ ทาง เมื่อมันระลึกรู้ทาง
หนึ่งทางใด มันก็จะช่วยส่งเสริมให้รู้อีกทางหนึ่งได้โดยไม่ยากนัก เมื่อเราได้พูดกันถึง ความหลง ความโกรธ ความใคร่
นั่นก็คือผมหมายถึง โลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นอกุศลมูลจิตนั่นเอง ที่เตือนท่านทั้งหลายว่าให้ฝึกสติให้มันรู้ แต่ทีนี้อ้าย
โลภะตามหลักของธรรมะนั้นน่ะ มันไม่ออกมาเป็นโลภะ มันออกมาเป็นในเรื่องลักษณะของความอยาก โทสะมันก็ออกมา
ในลักษณะของความโกรธ โมหะมันออกมาถึงความไม่รู้ แทนที่ว่ามันจะบอกว่า มันจะหลงนะ มันไม่บอกหรอก มันทำไปโดย
ไม่รู้ นั่นแหละคือความหลง สิ่งใดที่เราทำไปโดยขาดสติ นั่นคือความหลง
นอกจากอกุศลมูลจิตทั้ง ๓ โลภะ โทสะ โมหะ ที่มันเกิดขึ้นและมันดับไป เราได้สั่งสอนให้สติมันรู้แล้ว ต่อไปปัญหา
ในเรื่องความหดหู่ท้อถอยที่บังเกิดขึ้นนั้น ถ้าเราจะพูดถึงหลักธรรมในเรื่องของนิวรณ์ มันก็คือ ถีนมิทธะ นั่นเอง คือ
ความหดหู่ท้อถอยนั่น พวกเราอาจจะเข้าใจดี พวกที่เคยทำสมาธิหรือทำความสงบให้เกิดขึ้นผิดๆ แล้วนั้น คงจะเข้า
ใจดีว่าถีนมิทธะหรือความหดหู่ท้อถอยนั้นน่ะหมายความว่าอะไร คำว่าหดหู่ท้อถอยในที่นี้หมายถึงหดหู่ท้อถอยในทางจิต
ไม่ใช่ในทางกำลังกาย ประเดี๋ยวเราจะไป ฉันจะไปปถอยกับดันกับอ้ายคนที่เขาเล่นพลศึกษามาไม่ได้ แล้วจะบอกว่า
ถีนมิทธะมันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่คนละเรื่อง นี่หมายความถึงเรื่องทางจิตหรือทางใจนั่นเอง เพราะว่าที่เราพูดกันมาทุกสิ่ง
ทุกอย่างนี่ มันเป็นเรื่องงานทางใจ ไม่ใช่เรื่องงานทางร่างกาย ฉะนั้นความหดหู่ท้อถอยที่มันเกิดขึ้นนี้ ถ้าเราพูดถึงใน
นิวรณธรรม ๕ แล้วมันก็ได้แก่ถีนมิทธนิวรณ์นั่นเอง ฉะนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นเราก็บอกสติให้มันรู้อย่างนี้ว่า ถีนมิทธนิวรณ์
รู้ทางใจหนอ ถีนมิทธนิวรณ์รู้ทางใจหนอ ถีนมิทธนิวรณ์รู้ทางใจหนอ
เราบอกมันเช่นนี้ สั่งสอนมัน
เช่นนี้ ให้สติมันรู้ลักษณะแห่งถีนมิทธนิวรณ์นั้นมันมีลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อมันมีลักษณะเป็นอย่างไรแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นเรา
ก็จะได้รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เจริญสมาธิมักจะเกิดตัวนี้ขึ้นเสมอ เราจึงเห็นเขาโงกหงุบหงับนั่นน่ะ ถีนมิทธนิวรณ์มัน
เกิดขึ้น หลักการวิธีแก้ไขอย่างไร เราจะทำอย่างไรก็สติตัวเดียวให้มันระลึกรู้ รู้ยังไง รู้ในสิ่งที่ตรงข้ามกับถีนมิทธะ คือความ
หดหู่ นั่นอะไร คือแสงสว่างนั่นเอง จำเอาไว้ แสงสว่างถ้าเราทำสมาธิ ถีนมิทธนิวรณ์มันปรากฏขึ้น ความง่วงเหงาหาวนอน
มันบังเกิดขึ้น กำหนดแสงสว่างทันที แล้วมันก็จะหายไป ไม่ใช่อ้ายถีนมิทธนิวรณ์ตัวนี้ ไม่ใช่ว่าอดนอนมาตลอดคืน
แล้วก็มานั่งสมาธิ แล้วมันง่วงหงุบหงับๆ แล้วจะกำหนดแสงสว่าง มันหายง่วง ไม่ใช่อย่างนั้นนะ อ้ายนั่นมันเกิดขึ้นทางกาย
อ้ายที่ผมหมายความถึงเกิดขึ้นทางใจ มันคนละเรื่อง ฉะนั้นเราต้องแยกแยะกันให้รู้
นอกจากถีนมิทธะหรือความหดหู่ท้อถอยที่ขึ้นเกิดทางใจแล้ว ยังมีตัวต่อไปอีก ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่จะรู้จักก่อนที่จะ
มาทำสมาธินั้น ก็คือ ความฟุ้งซ่าน นั่นเอง ความฟุ้งซ่านนี่ถ้าเราจะพูดกันในลักษณะของนิวรณธรรม ๕ มันก็คือ
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ นั่นเอง ฉะนั้นเมื่อความฟุ้งซ่านมันเกิดขึ้น เราก็กำหนดสติให้มันระลึกรู้ว่า อุทธัจจ
กุกกุจจนิวรณ์รู้ทางใจหนอ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์รู้ทางใจหนอ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์รู้ทาง
ใจหนอ
เรากำหนดให้มันรู้อย่างนี้ แล้วมันก็จะเสื่อมคลายสูญหายไป แต่ที่เรามาฝึกสติให้รู้นี่ เราเตรียมไว้เพื่อเราจะ
สร้างปัญญาในเรื่องของธรรมชาติ เพราะว่าสติตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เราไม่ต้องการที่จะทำลายตัวการหดหู่ท้อถอยหรือ
ตัวความฟุ้งซ่านเหมือนทางสมาธิ นั่นคือความสงบนั่น เราไม่ต้องการนั่น เราต้องการเพียงรู้เท่านั้น รู้ยังไง ต่อไปแล้ว
ท่านจะรู้ว่า ประโยชน์คือการระลึกรู้เช่นนี้มันเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลอย่างไร
นอกจากความฟุ้งซ่านหรืออุทธัจจกุกุจจนิวรณ์ที่รู้แล้ว นอกจากนี้แล้วก็ยังมีความรู้สึกในทาง พรหมวิหาร คือได้แก่
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นเอง สิ่งทั้งหลายนี้เราไม่สามารถจะรู้ได้ทางอื่นนอกจากทางใจเท่านั้น เมตตานั้นคือ
อยากให้ผู้อื่นมีความสุข ฉะนั้นเมื่อเมตตาเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา เราก็กำหนดให้สติมีความระลึกรู้ว่า เมตตา
รู้ทางใจหนอ เมตตารู้ทางใจหนอ เมตตารู้ทางใจหนอ เมตตารู้ทางใจหนอ
เช่นนี้ จนกว่าสติมัน
จะรู้ลักษณะของเมตตาที่เกิดขึ้นนั้นมีเป็นอย่างไร
นอกจากเมตตาแล้วมันก็มีกรุณาอีกตัวหนึ่ง กรุณา นี่หมายถึง อยากให้ผู้อื่นเขาพ้นทุกข์ เมตตานั้น คือ
อยากให้ผู้อื่นเขามีความสุข ทีนี้กรุณาอยากให้ผู้อื่นเขาพ้นทุกข์ เมื่อความรู้สึกเช่นนี้มันเกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว
เราก็กำหนดให้สติระลึกรู้ว่า กรุณารู้ทางใจหนอ กรุณารู้ทางใจหนอ กรุณารู้ทางใจหนอ นี่เป็นเรื่อง
ของความรู้สึกทางจิต
นอกจากเมตตา กรุณาแล้ว ยังมีอีกตัวหนึ่งเรียกว่า มุทิตา คือ มีความยินดีแก่ผู้ที่เขามีความดี เมื่อเรามี
มุทิตาจิตเกิดขึ้นแล้ว มุทิตาจิตตัวนี้มันเป็นตัวตรงข้ามกับความริษยาหรือความไม่ต้องการเห็นผู้อื่นได้ดี แต่ตัวนี้มันเป็นตัว
อนุโมทนาจิตนั่นเอง คือมันยินดีกับผู้อื่นเขาด้วยที่เขาทำดี มุทิตาจิตตัวนี้หมายถึงเฉพาะยินดีในทางความดีเท่านั้นนะ ไม่ใช่
เห็นเขาฆ่าคนตายแล้วบอกถ้าอ้ายคนนั้นมันไม่ถูกกับเรา เออ ฉันยินดีด้วย ไม่ใช่ ตัวนี้ไม่ใช่มุทิตานะ บอกเสียก่อน
ประเดี๋ยวจะเอาไปปะปนกัน มุทิตานี้มันเป็นโสภณเจตสิก มันเป็นเจตสิกฝ่ายขาวนะ ไม่ใช่ฝ่ายดำ ฝ่ายสว่าง จำไว้
มุทิตาตัวนี้ ทีนี้เมื่อมุทิตาเกิดขึ้น ส่วนมากนี่พวกเรานี่จะเห็นว่ามีคนหนึ่งว่ามีคนหนึ่งคนใดเขามีใจเป็นกุศล เขาเอาข้าว
ของมาเลี้ยงกันอะไรกัน เราก็พลอยมีความยินดีอนุโมทนาเขาด้วย นี่ ตัวมุทิตาจิตตัวนี้ ฉะนั้นเมื่อมุทิตาจิตเกิดขึ้นแล้ว
เราก็กำหนดให้สติมันรู้ว่า มุทิตารู้ทางใจหนอ มุทิตารู้ทางใจหนอ มุทิตารู้ทางใจหนอ นี่ เราสั่งสอนมัน
เช่นนี้จนกว่ามันจะมีความระลึกรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง
นอกจากเมตตา กรุณา มุทิตาแล้ว ยังมี อุเบกขา อีกตัวหนึ่ง อุเบกขานี่เป็นตัวสำคัญยิ่งในการที่ผู้ทำสมถกรรมฐาน
ในระดับสูงๆ ที่จะนำออกมาใช้งานแล้ว ถ้าไม่มีอุเบกขาแล้วเขาจะไม่สามารถนำจิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้แต่ประการใด
เพราะว่าจิตของเขานั้นยังไม่พ้น ฐานะ ๖ จึงไม่มีประโยชน์ในการใช้
ไหนๆ เราพูดกันมาถึงอุเบกขาแล้ว ผมอยากจะใคร่ชี้ให้เห็นว่าคุณธรรมทั้ง ๔ ตัวนี้เป็นคุณธรรมของความเป็น
ผู้ใหญ่ เขาเรียกว่า พรหมวิหาร เพราะว่าเป็นคุณธรรมของพรหม คือหนึ่งปรารถนา หรือผู้ใหญ่ทั้งหลาย พ่อแม่เรียกว่า
พรหม พ่อแม่ปรารถนาให้บุตรได้รับความสุข นี่เป็นตัวเมตตา เห็นบุตรมีความทุกข์ก็ปรารถนาให้พ้นทุกข์ นี่เป็นตัวกรุณา
และเมื่อเห็นบุตรทำความดีทำคุณงามความดีก็มีความยินดีด้วย นี่เป็นตัวมุทิตา แต่เมื่อเมตตาก็ไม่ได้ผล กรุณาก็ไม่รู้
จะทำยังไง มุทิตาก็ไม่มี พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ก็ต้องมีอยู่ตัวเดียว คืออุเบกขานั่นเอง
ฉะนั้นอุเบกขานี่จึงเป็นตัวสุดท้าย ซึ่งไม่สามารถจะทำอะไรได้แล้ว ถ้าไม่มีตัวอุเบกขาแล้วผู้นั้นก็จะต้องได้รับความทุกข์
ฉะนั้นผู้ใหญ่ คำว่าผู้ใหญ่ในที่นี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุสูง อายุต่ำกว่าผู้มีอายุสูงก็ได้ แต่ผู้ใหญ่ในที่นี้หมายความ
ถึงผู้ใหญ่ในวงการบริหารก็ได้ ผู้ใหญ่ในฐานะที่เขาเป็นครูบาอาจารย์เขาก็ได้ ผู้ใหญ่ในฐานะที่เป็นพ่อเป็นแม่เขาก็ได้
ผู้ใหญ่ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองเขาก็ได้ ต้องประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ ถ้าไม่ประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ แล้วมันก็มี
อคติเกิดขึ้น ฉะนั้นตัวอุเบกขานี่จึงเป็นตัวสำคัญยิ่ง ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายเคยว่าผมบ่อยๆ ว่าทำไมผมเฉย ไม่ช่วยคนนั้น
ไม่ช่วยคนนี้ ก็ผมรู้แล้วว่าช่วยเขาไม่ได้ ทำอะไรก็ทำไม่ได้ ผมก็ต้องนิ่ง คือความเฉย นี่เป็นตัวอุเบกขา ไม่ยินดียินร้าย
วางใจเป็นกลาง คืออุเบกขา
เมื่ออุเบกขาเกิดขึ้นแล้ว เราก็สอนสติให้มันรู้ว่า อุเบกขารู้ทางใจหนอ
อุเบกขารู้ทางใจหนอ อุเบกขารู้ทางใจหนอ
นี่เราต้องมีอย่างนี้ การที่เราจะเป็นผู้ใหญ่
ที่นี้เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้น แล้วมันก็ดับไป ที่ผมพูดมาเมื่อกี้นี้ พูดในลักษณะการเกิดของเมตตา ในการเกิดของ
กรุณา ในการเกิดของมุทิตา และในการเกิดของอุเบกขา เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ท่านทั้งหลายอย่าลืมว่า พวกเรานี้ยัง
เต็มไปด้วยกิเลส เรายังไม่ได้ตัดกิเลส ยังไม่ได้มรรคได้ผล ฉะนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง มันก็อาจจะดับไปได้
เมื่อเราสอนให้มันรู้เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำไมเล่าเมื่อมันดับไปเราถึงไม่บอกให้สติมันรู้ว่าขณะนั่นน่ะ เมตตาก็ดี กรุณาก็ดี
มุทิตาก็ดี ที่มันเกิดขึ้นน่ะมันดับไปแล้ว มันหายไปแล้ว คือมันดับไปจากความรู้สึกของเราแล้ว เราก็ต้องบอกให้มันรู้ด้วย
มันถึงจะเป็นธรรม สติมันถึงจะมีความรอบรู้ เราสั่งสอนไว้เถอะสติของเรานั้นน่ะ ไม่ขาดทุนแน่ ผมรับรอง แล้วก็ความ
ไม่ขาดทุนที่เราได้สั่งสอนมันไว้นี่แหละ มันจะกลับมาเป็นผลตอบแทนแก่เราในภายหลัง หาค่าบ่มิได้ทีเดียว
ดังนั้นเมื่อเมตตาจิตที่มันเกิดขึ้นมันดับไปแล้ว เราก็กำหนดให้สติรู้ว่า เมตตาดับรู้ทางใจหนอ เมตตาดับรู้
ทางใจหนอ เมตตาดับรู้ทางใจหนอ
เราสั่งสอนมันเช่นนี้จนกว่ามันจะมีความแก่กล้า ระลึกรู้ได้ด้วยตัวของ
มันเอง แล้วมันก็จะทำเป็นทาสที่ซื่อสัตย์ คอยตักเตือนเราอยู่เสมอ เมื่อสติระลึกรู้สามารถตักเตือนให้เรารู้ได้เป็นปัจจุบัน
ธรรมแล้ว เราจงภูมิใจเถิดว่าโลกุตตรธรรมที่เรามุ่งไว้ในชีวิตนั้น เราได้เข้ามาหลายเปอร์เซ็นต์แล้ว โดยเราไม่รู้สึกตัว
ว่าเราได้ย่างเข้ามาในโลกุตตรธรรมแล้ว ซึ่งไม่เหมือนกับที่เขาสอนๆ กัน เขาสอนแต่ผลของโลกุตตรธรรมว่ามันดี
อย่างนั้น งามอย่างนี้ มีผลอย่างนั้น มีผลอย่างนี้ แต่เขาไม่ได้สอนชี้ช่องให้เราว่าทำอย่างไรเราจะเข้าหรือเดินเข้าไปสู่
โลกุตตรธรรมได้โดยง่ายดาย ผมจับได้ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนพระสาวกทั้งหลายเรื่องสตินี้เท่านั้น เพราะว่า
พระสาวกทั้งหลาย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเพื่อให้เข้าถึงโลกุตตรธรรม ไม่ใช่โลกียธรรม ฉะนั้นเราก็เอาคำสั่งสอน
ที่ท่านได้สอนพระสาวกทั้งหลายนั่นน่ะ เอามาใช้กับตัวของเรา เราฝึกมัน ทำมัน แล้วมันก็เข้าถึงโดยเราไม่ต้องไปเหนื่อยไป
ยากเหมือนคนทั้งหลายเขา นี่ เป็นตัวเมตตา
ทีนี้เมื่อกรุณาที่มันเกิดขึ้นนั้น เรารู้แล้วนี่ตั้งแต่ต้นว่าเรารู้ทางใจ เมื่อมันจะดับมันก็ต้องรู้ทางใจเช่นเดียวกัน เมื่อ
กรุณาดับ เราก็ต้องสอนสติให้มันรู้ว่า กรุณาดับรู้ทางใจหนอ กรุณาดับรู้ทางใจหนอ กรุณาดับรู้ทางใจ
หนอ
เราสั่งสอนมันเช่นนี้จนกว่ามันรู้ว่ากรุณานั้นดับไปแล้ว มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป
เช่นเดียวกันกับมุทิตาที่เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป เราก็สอนสติให้มันรู้ว่า มุทิตาดับรู้ทางใจหนอ มุทิตา
ดับรู้ทางใจหนอ มุทิตาดับรู้ทางใจหนอ
นี่ เราก็ได้มา ๓ ตัว เมตตา กรุณา มุทิตา
และอีกตัวหนึ่งคืออุเบกขา ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยได้ว่า เอ๊ะ เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราจะไม่มีอุเบกขาตลอดไปหรือ
มันมีไม่ได้หรอกครับ เพราะว่ากิเลสของเรายังตัดไม่หมด เรามีอุเบกขาเกิดขึ้นได้ เฉพาะขณะใดขณะหนึ่ง เมื่อมีสติ
ระลึกรู้เท่านั้น ตราบใดที่สติมันยังหลงลืมอยู่ มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ มันอาจจะมีโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ขึ้นมาปะปนอยู่
แต่ถ้าเราฝึกมันไปฝึกมันไป สติมันเกิดขึ้นอยู่เสมอแล้ว อกุศลเจตสิกทั้งหลายมันก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมันไม่
สามารถจะเกิดขึ้นได้แล้ว อุเบกขามันก็เกิดขึ้นได้ง่าย ฉะนั้นพวกเราทุกคน ถ้าเราฝึกหัดเสียตั้งแต่บัดนี้ เราก็ย่อมจะได้กำไร
เราอย่าไปฝึกเอาเลยเมื่อแก่น่ะ เพราะเมื่อแก่แล้วมันก็หลงๆ ลืมๆ คือตัวโมหะมันเข้ามาแทรกหมดแล้ว มันไม่มีโอกาส
หรอก ฉะนั้น คำว่าอย่าประมาทนั้น จึงเป็นเรื่องที่สมควรเราจะได้ระลึกรู้อยู่เสมอ ในทำนองเดียวกันอุเบกขาเมื่อมันดับไป
เราก็ต้องให้มันรู้ว่า อุเบกขาดับรู้ทางใจหนอ อุเบกขาดับรู้ทางใจหนอ อุเบกขาดับรู้ทางใจหนอ
เพียงเท่านี้
จากที่ผมแนะนำคุณมาตั้งแต่ต้น ถ้าคุณสังเกต คุณจะเห็นว่าผมชี้ให้เห็นทั้งเมื่อ โลภะ โทสะ โมหะ ชี้ให้เห็นถึงการ
เกิดขึ้น และลักษณะเมื่อมันดับไป เราก็ชี้ให้เห็น มาพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ชี้ให้เห็นเมื่อมันเกิด
ขึ้นและ เมื่อมันดับไป พวกเรารู้หรือเปล่าว่าคุณทำเช่นนี้ อะไรมันบังเกิดขึ้นแล้ว นั่นคือต่อไปคุณจะรู้ขึ้นเองว่ารูปนามนั้น
มันเกิดมันดับอย่างไร โดยคุณไม่รู้สึกตัวเลย นี่ ถ้าเราไม่ฝึกเสียตั้งแต่บัดนี้ อะไรเล่า โลกุตตรกุศลที่เราจะทำต่อไป
มันก็คือวิปัสสนึกเหมือนที่เขาทั้งหลายได้ประสบกันมาแล้วนั่นเอง จำไว้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันจะต้องมีการศึกษา มีการฝึก
มีการหัด ให้มันค่อยๆ รู้ ค่อยเป็น ค่อยไป ไม่มีผู้ใดที่จะรู้ได้เองโดยไม่ได้ศึกษา โดยไม่ได้ฝึก โดยไม่ได้หัด มีองค์เดียว
เท่านั้นคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้นถ้าพวกเราหวังที่จะก้าวต่อไป เพราะเหตุไร กามาวจรกุศลเราก็ได้ฝึกทำกัน
มาแล้ว รูปาวจรกุศล อรูแาวจรกุศล เราก็ทำกันมาแล้ว จนรู้จักว่าความสงบจิตนั้นมันเป็นอย่างไร เรารู้กันมาแล้ว
แต่อย่างเดียวเท่านั้นที่เรายังไม่รู้คือโลกุตตรกุศล มันเป็นเรื่องที่สูงยิ่งที่ใครๆ เขาสนใจกันเฉพาะผล เราอย่าไปสนใจ
ในผล เราจงสนใจในเหตุที่มันจะให้มันเกิด เรามาสร้างเหตุกัน เราทำเหตุให้ดีแล้ว ผลมันจะออกมาเป็นอย่างไร ตามบุญ
ตามกรรมมัน แล้วแต่มัน ถ้าอินทรีย์ของเราแก่กล้ามันก็ได้ผลเร็ว อินทรีย์ของเราไม่แก่กล้า เราก็เก็บสะสมไว้เป็นกำไรใน
อนาคตต่อไป ผมรับรองได้ว่าไม่มีใครเขาจะสอนบ้าๆ บอๆ อย่างที่ผมแนะนำคุณอย่างนี้หรอก เพราะเขาว่ามันไร้ราคา
ไม่มีใครเขาสนใจ เพราะทุกๆ คนเขาก็ถือว่ามสติด้วยกันทั้งนั้น แต่ความจริงเขาหารู้ไม่ว่าเขาไม่มีสติแต่ประการใดเลย
เมื่อเราได้กล่าวถึงลักษณะของพรหมวิหาร ๔ มีประการใดแล้ว เราก็ควรจะได้กล่าวกันต่อไปว่า เมื่อ มหากุศลจิต
บังเกิดขึ้นแล้ว
เราจะต้องเตือนสติให้มันรู้ คำว่าจิตเป็นมหากุศลนั้น ขอให้พวกเราจงทำความเข้าใจว่า คนบางคนบางที
ตลอดชีวิตของเขามหากุศลจิตไม่เคยเกิดขึ้นเลย ผู้ที่ไม่เคยมีมหากุศลจิตเกิดขึ้นนั้น เขาจะทำกุศลผลบุญใดๆ มันก็ไม่ได้
สมปรารถนา ทำได้ภายนอกมันออกไป ทานก็ให้ไปอะไรก็ให้ไป แต่เมื่อมหากุศจิตไม่เกิดขึ้น อ้ายบุญกุศลที่เขาจะได้รับผล
ตอบแทนนั้นมันไม่สมค่า มันไม่มีราคา ฉะนั้นพวกเราทุกคนถึงได้เพียงพยายามสั่งสอนว่าเราจะทำอย่างไร เราจะประพฤติ
อย่างไรปฏิบัติอย่างไร มหากุศลจิตมันถึงจะเกิดขึ้น ขณะใดที่มหากุศลจิตเกิดขึ้นแล้ว จงรีบทำเถอะ สิ่งนั้นๆ ทำเถอะ
แล้วเราจะได้กำไร แต่อย่าลืมนะ การทำบุญกิริยาวัตถุ อันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนานั้น ยังเป็นการที่ทำได้ยากกว่าที่เรา
ทำกัน พวกเราทำกันเสียอีก เพราะเหตุไร เพราะเราได้พบปะเจอะเจอ เรารู้ลักษณะของมหากุศลจิตมันเกิดขึ้นอย่างไร
มันมาจากวงแวดล้อมอย่างไร เราทำกันเช่นนั้นมหากุศลจิตในพวกเรานั้น มันถึงได้เป็นการเกิดกันขึ้นได้ง่าย บางคนทำของ
เพียงเล็กน้อยอย่างเช่นพวกเราบางคนซึ่ง แหม พยายามที่อดตาหลับขับตานอนทำของเล็กๆ น้อยๆ มาสู่กันกิน เวลา
เขาแผ่กุศลจิต เขาสามารถรับกุศลอันนั้นได้อย่างมากมายนั้น อะไร เพราะว่ามหากุศลมันเกิดขึ้นแก่เขา ผลมันเกิดขึ้น
เช่นนั้น นี่ อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นจงจำไว้ว่า เมื่อมหากุศลจิตมันเกิดขึ้น ซึ่งผมเคยอธิบายให้พวกเราฟังมาแล้วตั้งแต่ต้นว่า
มหากุศลจิตนั้นมันมี ๘ ดวง คือดวงต้นๆ ถ้าผมจำไม่ผิดก็ โสมนัสสหคตัง ญานสัมปยุตตัง อสังขาริกัง หมายความว่า
มีความปลื้มปีติยินดีในการทำสิ่งนั้น ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีสิ่งที่จะกระตุ้นเตือน มันเกิดขึ้นเอง
อย่างนี้เป็นมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ถ้าผู้ใดเกิดขึ้นแล้วรีบทำกุศลในขณะนั้น เขาจะได้กุศลอย่างมากมายเหลือเกิน นี่
ฉะนั้นเมื่อมหากุศลจิตเกิดขึ้น เราก็ต้องแนะนำให้สติมันรู้ว่า จิตเป็นมหากุศลรู้ทางใจหนอ จิตเป็นมหากุศล
รู้ทางใจหนอ จิตเป็นมหากุศลรู้ทางใจหนอ
เราทำเช่นนี้ เราบอกเช่นนี้ มันจะได้รู้ลักษณะแห่งการเป็น
มหากุศลมีลักษณะเป็นประการใด
และในทำนองเดียวกันเมื่อ มหากุศลจิตดับไปแล้ว เราก็ต้องบอกให้มันรู้ว่าลักษณะเช่นนี้นะ มหากุศลจิตที่บังเกิด
ขึ้นนั้น มันดับไปแล้ว เราก็กำหนดให้รู้ว่า มหากุศลจิตดับรู้ทางใจหนอ มหากุศลจิตดับรู้ทางใจหนอ
มหากุศลจิตดับรู้ทางใจหนอ
ทำเช่นนี้จนกว่าจะมีสติระลึกรู้ มีความสามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง ผมพูด
มาอย่างนี้ พวกเราบางคนอาจจะข้องใจ เอ๊ะ มันไม่เกิดขึ้นเสมอไปหรือ ความจริงมันไม่เกิด สังเกตดูเถอะ พวกเรานี่
สังเกตดูเถอะ บางคนมีจิตเฉยๆ ไม่อยากจะทำ แต่บางขณะ แหมมันอยากจะทำเหลือเกิน นี่ ผมพูดมาเท่านี้ก็เวลาก็หมด
จึงขอจบเพียงแค่มหากุศลจิตที่บังเกิดขึ้นแล้วก็หายไปเพียงแค่นี้ไว้ก่อน แล้วเราก็ไปต่อกันในวันหลัง

การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๖ จบ