ปฏิจจสมุปบาทธรรม
ตามแนวพระราชนิพนธ์ ของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4


ลิขสิทธิ์ของหนังสือ “ปฏิจจสมุปบาทธรรม ตามแนวพระราชนิพนธ์ ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4” ในรูปแบบของสื่อทางอีเล็คโทรนิคฉบับนี้
เจ้าของลิขสิทธิ์: มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ถนนพระสุเมรุ, กรุงเทพฯ 10200
ผู้จัดพิมพ์: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
books@mahamakuta.inet.co.th
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
241 ถนนพระสุเมรุ, กรุงเทพฯ 10200
โทร. (66) 02-6291417 , 2811085 โทรสาร. (66) 02-6294015
ท่านสามารถใช้หนังสือเล่มนี้ที่เป็นข้อมูลทางอีเล็คโทรนิคเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวท่านเองได้ แต่สิทธิ์ทางการค้าทั้งหมดเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายคือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


ปฏิจจสมุปบาทธรรม
ตามแนวพระราชนิพนธ์
ของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4


        พระบรมราโชวาทนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงแสดงไว้แต่เมื่อครั้งยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครั้งทรงผนวชเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่หนังสือฉบับนี้ ต้นฉบับเดิม เป็นฉบับเก่าชำรุด บกพร่องหลายแห่ง จึงได้มาตรวจสอบ เรียบเรียงเพิ่มเติมลงไว้พอเป็นสังเขปเท่านี้.


พระบรมราโชวาทที่ทรงแสดงธรรม

ปฏิจจสมุปบาทธรรม


 

 

พระบรมราโชวาทที่ทรงแสดงธรรม

          ณ วันศุกร์ เดือนสิบสอง ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีฉลู ตรีศก เวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสถิต ณ พระอารามวัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จประทับ ณ ที่ประชุมสงฆ์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า จิตของสัตว์ทั้งหลาย ตรึกตรองเดินอยู่ในทางมี 36 ประการ ดังนี้ คือ เคหสิตโสมนัส 6 เคหสิตโทมนัส 6 เคหสิตอุเบกขา 6 เป็น 18 ประการ เนกขัมมสิตโสมนัส 6 เนกขัมมสิตโทมนัส 6 เนกขัมมสิตอุเบกขา 6 เป็น 18 ประการ เข้ากันเป็น 36 ประการ.

        แลเคหสิตโสมนัส 6 นั้น คือความที่ใจสบายอาศัยในเรือน คือ กามคุณ 5 คือ รูปารมณ์ 1 สัททารมณ์ 1 คันธารมณ์ 1 รสารมณ์ 1 โผฏฐัพพารมณ์ 1 เป็น 6 ประการ กับทั้งธัมมารมณ์.

        แลเคหสิตโทมนัส 6 นั้น คือ ความโทมนัสชั่วใจเจ็บใจอาศัยในเรือน คือ กามคุณ 5 คือ รูปารมณ์ 1 สัททารมณ์ 1 คันธารมณ์ 1 รสารมณ์ 1 โผฏฐัพพารมณ์ 1 เป็น 6 ประการ กับทั้งธัมมารมณ์เหมือนกัน.

        แลเคหสิตอุเบกขา 6 นั้น คือไม่โสมนัสไม่โทมนัสเพิกเฉยอยู่ใจอาศัยในเรือน คือ กามคุณ 5 คือ รูปารมณ์ 1 สัททารมณ์ 1 คันธารมณ์ 1 รสารมณ์ 1 โผฏฐัพพารมณ์ 1 กับทั้งธัมมารมณ์ประสมเข้ากันเป็น 6 ประการ ดังนี้.

        แลเนกขัมมสิตโสมนัส 6 นั้น คือ ความดีใจสบายใจอาศัยในการที่จะออกจากทุกข์นั้น ได้แก่กิริยาที่บุคคลพิจารณาเห็นแท้เห็นจริงในอารมณ์ทั้ง 6 ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ว่ามิใช่ตัวมิใช่ตน แลมีความดีใจสบายใจ อาศัยในการที่ตนพิจารณาเห็นจริง เห็นแท้แน่ในอารมณ์นั้นๆ.

        แลเนกขัมมสิตโทมนัส 6 นั้น คือ ความชั่วใจเจ็บใจอาศัยในการที่จะออกจากทุกข์นั้น ได้แก่ การที่บุคคลมาพิจารณาเห็นเข้าใจในอารมณ์ทั้ง 6 นั้น ว่าไม่เที่ยง ว่าเป็นทุกข์ ว่ามิใช่ตัวมิใช่ตน แลคิดจะยกตนให้พ้นจากวัฏทุกข์เร็วๆ ด้วยกลัวแต่ทุกข์เป็นกำลัง ครั้นตนมิอาจที่จะพ้นจากทุกข์นั้นได้ ก็ไม่มีความโทมนัสขัดเคืองใจ ด้วยมาคิดไปว่า ตัวมีวัฏฏุปนิสัยกุศลมิได้กระทำไว้ จึงมิอาจจะพ้นทุกข์ตามความปรารถนาแห่งตนเอง.

        แลเนกขัมมสิตอุเบกขา 6 นั้น คือ ความเพิกเฉยในใจ อาศัยในการที่จะออกจากทุกข์นั้น ได้แก่ กิริยาที่บุคคลพิจารณาเห็นแท้ในอารมณ์ทั้ง 6 ว่าไม่เที่ยง ว่าเป็นกองทุกข์ มิใช่ตน แลความมิได้ยินดีในอารมณ์ทั้ง 6 นั้น มีจิตตั้งมั่นเป็นกลางอย่างเดียวเสมออยู่ มิได้หวาดหวั่นไหวในอารมณ์ทั้ง 6 นั้นเป็นนิจ.

        ก็หมู่สัตว์ทั้งหลาย แต่บรรดาท่องเที่ยวอยู่ในโลกนี้ ย่อมมีจิตเที่ยวเดินวนเวียนอยู่ในทาง 18 ทางข้างเคหสิตโสมนัส เคหสิตโทมนัส แลเคหสิตอุเบกขา โดยมากยิ่งนัก เพราะเป็นทางอันประจักษ์ ตัวเคยเที่ยวเคยเดินอยู่เป็นธรรมดา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้พิจารณาเห็นว่า เคหสิตะ 18 ทางนั้น ประกอบด้วยเหตุภัยอันตรายต่างๆ เป็นอันนับประมาณมิได้ หมู่สัตว์ทั้งหลาย แต่บรรดาที่เที่ยวอยู่ในทาง 18 ทางนั้น แม้สำคัญตนว่า เป็นสุขสนุกสบายอยู่ก็ดี ก็ย่อมมีทุกข์แก้อยู่เองโดยธรรมดาตน แม้ถึงสัตว์ทั้งหลาย จะปรารถนาเพื่อจะให้พ้นจากทุกข์ก็ดี ก็มิอาจให้พ้นจากทุกข์ได้ เพราะมิใช่ทาง ก็ทางที่จะให้พ้นจากทุกข์นั้นทางอื่นดอก คือ ทางเนกขัมมสิตะ ข้างปลาย 18 ทางนี้ แม้หญิงก็ดีชายก็ดี พอใจเดินพอใจเที่ยวประพฤติอยู่เนืองๆ แล้ว ถึงว่าเขาจะไม่ปรารถนาจะให้พ้นจากทุกข์ ถึงซึ่งสุข คือ อมตนิพพานก็ดี ครั้นเมื่อบารมีแก่กล้าแล้ว ก็คงจะพ้นจากทุกข์ ถึงซึ่งสุขเป็นแท้ เพราะเขาได้เดินตามทางเนกขัมมสิตะ เปรียบเหมือนได้เดินตามทางอันเป็นที่เดินไปสู่บ้านแลนิคมชนบท เมื่อบุคคลตั้งหน้าเฉพาะเดินไปตามหนทางนั้นแล้ว ถึงจะไม่มีความปรารถนาว่า จะไปบ้านแลนิคมชนบทนั้นก็ดี ถ้าบุคคลไปตามทางนั้น เมื่อไม่แวะไม่เวียนไปทางอื่นแล้ว ก็คงถึงบ้านแลนิคมชนบทนั้นเป็นแท้.

        สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ฉลาดในอุบายการที่จะชักนำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากวัฏทุกข์ สัตว์ทั้งหลายจะถึงซึ่งปรมัตถสุขประการใด พระองค์สั่งสอนแนะนำไปด้วยประการนั้น ด้วยกำลังพระมหากรุณา มิได้เลือกหน้าว่าผู้ดีเข็ญใจ พระทัยคิดเมตตาจะใคร่ให้สุขสิ้นด้วยกัน เหตุดังนั้น พระองค์จึงทรงแสดงทางเนกขัมมสิตะทั้ง 18 ทาง อย่างว่ามาแล้วนั้น พระองค์รำพันสั่งสอนให้บริษัทอาศัยซึ่งโทมนัส แล้วละเสียซึ่งโทมนัส อาศัยซึ่งโสมนัส แล้วละเสียซึ่งโสมนัส อาศัยซึ่งอุเบกขา แล้วละเสียซึ่งอุเบกขา เป็นใจความว่า พระองค์สั่งสอนแก่บริษัทว่า เมื่อท่านจะมีความโทมนัสชั่วใจเสียใจก็ดี อย่าพึงมีความโทมนัสอาศัยในเรือนคือกามคุณเลย พึงมีความเจ็บใจอาศัยในเนกขัมมะ คือ พิจารณาการที่จะออกจากวัฏทุกข์นั้นเถิด เมื่อมีความโสมนัสดีใจสบายใจก็ดี ก็อย่าพึงยินดีด้วยความโสมนัสอาศัยในเรือนคือกามคุณเลย พึงมีความยินดีในโสมนัสอาศัยในเนกขัมมะ คือความที่จะออกจากทุกข์นั้นเถิด เมื่อมีความอุเบกขาเฉยใจก็ดี ก็อย่าพึงมีความปรารถนาเฉยใจ คืออาศัยฝ่ายข้างกามคุณเลย ก็อุเบกขาเช่นนั้นได้ชื่อว่า อุเบกขาประกอบด้วยโทษแท้ ไม่เป็นปรมัตถประโยชน์ดอก เพราะจิตนั้นเป็นอญาณุเบกขาหาปัญญามิได้ มิใช่อุเบกขาบังเกิดด้วยการที่ทรมานจิตใจอาศัยเนกขัมมะ คือที่จะออกจากวัฏทุกข์นั้นแล้ว และพระองค์ตรัสไว้ให้บริษัทกระทำซึ่งเนกขัมมสิตโสมนัส แล้วละเสียซึ่งเนกขัมมสิตโสมนัส อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา ละเสียซึ่งเนกขัมมสิตโสมนัสต่อๆ ขึ้นไป เป็นใจความว่า พระองค์เจ้าตรัสสั่งสอนบริษัทว่า คือมีโทมนัสชั่วใจเสียใจอาศัยเนกขัมมะ คือว่าการที่ตัวได้พิจารณาเห็นว่า สารพัดธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นกองทุกข์ ว่ามิใช่ตัวมิใช่ตน แลมีความร้อนรนหวังใจว่า จะใคร่ไปเสียให้พ้นจากวัฏทุกข์ ด้วยมีความกลัวแต่ทุกข์เป็นกำลัง ครั้นตัวมิอาจที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้ ก็มีจิตโทมนัสเสียใจ พึงมีความโสมนัสดีใจเสียเถิดว่า เราได้พิจารณาเห็นอารมณ์ทั้ง 6 โดยทางพระไตรลักษณ์เช่นนี้ เป็นความดีความชอบในพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่า บูชาพระพุทธเจ้าโดยปฏิบัติบูชาอันอุดม เพราะว่ากระทำสมดังประสงค์ที่พระองค์ต้องพระทัย ก็คงเป็นอุปนิสัยให้ถึงพระนิพพานในกาลเบื้องหน้าเป็นแท้ ก็แลความโสมนัสดีใจอาศัยแก่เนกขัมมะนั้นเล่า ก็ยังไม่ดีแท้ทีเดียวก่อน เพราะความโสมนัสนั้นเป็นตัวตัณหา ความทะยานใจย่อมเป็นข้าศึกแท้แก่ปรมัตถประโยชน์ เหตุดังนั้น พึงข่มขี่ละเสียซึ่งโสมนัสนั้น ด้วยพระไตรลักษณปัญญา พึงยังจิตเป็นอุเบกขาความเพิกเฉยในเนกขัมมะนั้น ให้บังเกิดขึ้นในจิตของตนเถิด แล้วพระองค์ตรัสจำแนกเนกขัมมสิตอุเบกขาออกเป็นสอง คือ มานัตตารัมมณอุเบกขานั้น เป็นอุเบกขาเป็นไปในรูปสมาบัติทั้ง 4 คือ ปฐมฌาน 1 ทุติยฌาน 1 ตติยฌาน 1 จตุตถฌาน 1 แลเอกัคคตารัมมณอุเบกขานั้น เป็นไปในอรูปสมาบัติทั้ง 4 คือ อากาสานัญจายตนสมาบัติ 1 วิญญาณัญจายตนสมาบัติ 1 อากิญจัญญายตนสมาบัติ 1 เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ 1 แล้วให้บริษัทอาศัยซึ่งเอกัคคตารัมมณอุเบกขา ละเสียซึ่งมานัตตารัมมณอุเบกขาต่อไป แล้วให้กระทำให้ชำนาญในรูปฌานสมาบัติ แล้วให้เจริญในอรูปฌานสมาบัติต่อขึ้นไป แล้วให้ละเสียซึ่งเอกัคคตารัมมณอุเบกขา แลอาศัยซึ่งธรรมอันหนึ่ง แลธรรมอันหนึ่งนั้น พระอรรถกถาจารย์หาแสดงให้แจ้งชัดว่าเป็นธรรมสิ่งอันใดไม่ แต่ว่าถ้าพิจารณาใคร่ใจดูเห็นว่าจะเป็นวิมุตติธรรม เพราะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นว่ามีรสอย่างเดียว คือ วิมุตติรส แท้จริง ในทางข้างปลาย 18 ทางนี้ ถ้าผู้ใดมีอุตสาหะปฏิบัติตามเป็นปฏิบัติ แม้มิได้ธรรมวิเศษอันใด อันหนึ่งก็ดี คงมีอานิสงส์เป็นแท้ เมื่อความตายมาถึงนั้นแล จะให้ผลเป็นเที่ยงประจักษ์แก่ตาของตัวเอง เหตุดังนั้น ท่านผู้เป็นกุลบุตรนับถือพระพุทธศาสนา พึงกำหนดจำไว้ตรึกตรองทุกๆ คนเถิด.

        สาสนมามโก โย จ สิกฺขิตุง สรณํปิ จ อธิบายว่า บุคคลผู้ใดจะนับถือพระพุทธศาสนา พึงศึกษาให้รู้จักที่พึ่งทั้งสาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ชัดให้แน่ แล้วให้รู้จักคุณพระศาสนาว่า จะนับถือนี้จะมีประโยชน์อย่างไร แลบุคคลทุกวันนี้ถือแต่หยาบๆ ไม่คิดตรึกตรอง ถึงจะนับถือพระศาสนา ก็นับถือตามบิดามารดาตนที่ถือมา ไม่รู้จักว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น เป็นอย่างไร เป็นแต่ได้ยินเขาว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่นับถือ ได้ยินเขาว่า ให้ข้าวของแก่คนนุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วได้บุญ ได้ยินเท่านั้นแล้วก็ให้ของไป ไม่ได้คิดตรึกตรองว่าบุญนั้นเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจะได้บุญ จะนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จะนับถือทำไม เพราะเหตุออย่างไรจึงจะต้องนับถือ ไม่ตรึกตรองให้รู้ชัดรู้แน่ นับถือไปตามบิดามารดาเคยนับถือมา นับถืออย่างนั้น จะเรียกว่าเป็นคนนับถือพระศาสนานั้นหามิได้ นับถืออย่างนั้น เรียกว่านับถือตามอย่างบิดามารดาเท่านั้น เพราะตัวไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแต่ทำตามเขาพูด เขาเล่าต่อๆ มา เหตุดังนั้นจึงว่า ใครจะนับถือพระศาสนา ให้ตรึกตรองให้ละเอียด ให้รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น เป็นอย่างนั้น พระศาสนาเป็นอย่างนั้น จึงถวายตัวเป็นข้าพระศาสนา รับข้อปฏิบัติอันจะพ้นความทุกข์ความลำบากนี้ จึงนึกไปว่าที่ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตาย เห็นจะมีอยู่เป็นเที่ยงแท้ เปรียบเหมือนอย่างของร้อนแล้วมีของเย็นแก้ ไฟมีแล้วน้ำก็มี ความลำบากมีแล้วความสบายก็มีเหมือนกัน เมื่อพระองค์พิจารณาเห็นแล้ว พระองค์ก็สู้อุตสาหะแสวงหาอุบายที่จะออกจากทุกข์ สู้ทำการกุศลมาช้านาน จนถึงพระศาสนาพระพุทธเจ้าทีปังกร ครั้งนั้นท่านมีบารมีแก่กล้า ควรจะได้พระอรหัตรื้อตนออกจากสังสารวัฏได้ แต่หากว่าท่านมีความกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง ท่านมาคิดว่า เราท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดมาในวัฏสงสารช้านานนักหนาแล้ว ใครที่จะไม่ได้เป็นพี่น้อง เป็นบิดามารดากันนั้นไม่มี คงได้เป็นพี่น้อง เป็นบิดามารดาหมดทุกคน คนเหล่านั้นยังจะต้องลำบากอยู่ ตัวเราจะไปเสียคนเดียวนั้นไม่ชอบ จำจะต้องอยู่บอกอุบายที่จะพ้นทุกข์ให้รู้ด้วยกันมากๆ แล้วไปด้วยกันจึงจะดี วิสัยที่คนจะบอกอุบายให้คนอื่นพ้นจากทุกข์ได้นั้นมิใช่ง่าย ต่อเมื่อไรมีปัญญาสารพัดรู้เห็น ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เหมือนพระทีปังกรนี้จึงจะได้ ท่านคิดอย่างนี้แล้ว ท่านจึงทอดตนลงเป็นสะพานถวายแด่พระพุทธเจ้าทีปังกร กับทั้งหมู่พระสงฆ์บริวาร แล้วทำความปรารถนาในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าว่า ขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนพระองค์นี้เถิด ครั้นทำความปรารถนาแล้ว พระพุทธเจ้าทำนายว่า ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็สร้างพระบารมีมาช้านานถึงสี่อสงไขยแสนกัลป นับแต่กัลปนี้ถอยหลังลงไป ท่านมีความกรุณาสู้สละเสียซึ่งพระอรหัตผลอันจะได้ชาตินั้น สู้ทนลำบากสร้างพระบารมีมาอย่างนี้ เปรียบเหมือนมนุษย์ที่ติดอยู่ในเรือนจำเป็นอันมาก แลนักโทษคนหนึ่งเป็นคนมีปัญญา คิดแก้ไขจะหาอุบายเพื่อหนีออกจากเรือนจำ ครั้นแสวงหาได้อุบายที่จะออกจากเรือนจำได้แล้ว มาคิดว่าเราจะออกไปคนเดียวไม่ชอบ คนทั้งหลายที่อยู่ในเรือนจำนั้น แต่ล้วนเป็นเพื่อนฝูงกันทั้งสิ้น คนเหล่านั้นหารู้ที่จะออกจากเรือนจำไม่ จำเราจะต้องอยู่บอกอุบายให้รู้มากๆ ก่อน แล้วจึงค่อยไปจึงจะดี เมื่อบุรุษนั้นคิดอย่างนี้แล้ว ก็สู้ทนทุกข์อยู่ในวัฏสงสาร เหมือนคนที่ติดอยู่ในเรือนจำ พระบรมโพธิสัตว์นั้น เหมือนบุรุษที่มีปัญญา สู้ทนความลำบากมาช้านาน สิ่งที่เป็นกุศล ท่านได้ทำทุกประการ ครั้นพระบารมีแก่กล้าแล้ว ในชาติเป็นที่สุด ได้มาบังเกิดในเมืองกบิลพัสดุ์ เกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยราช พระญาติทั้งหลายถวายพระนามชื่อว่า สิทธัตถะ ถ้าเรียกโดยโคตรว่า โคตมะ พระองค์มีพระกายงดงามไม่มีใครสู้ได้ เพราะว่าพระองค์ได้สร้างกุศลมาก พระกายสูง 12 ศอก โดยธรรมดา มีพระรัศมีสูง 6 ศอก เข้ากันเป็น 18 ศอก พระองค์ออกทรงบรรพชา ตั้งความเพียร ละเสียซึ่งความชั่วทั้งปวง มีพระสันดานบริสุทธิ์ไม่มีความชั่ว สารพัดรู้สารพัดเห็นไม่ขัดไม่ข้อง รู้จักกองทุกข์คือ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ประการ รู้เหตุที่จะยังกองทุกข์ให้บังเกิด คือ ความโลภที่อยากได้ รู้ที่ดับกองทุกข์คือพระนิพพาน แลรู้หนทางคือข้อปฏิบัติที่จะให้ดับกองทุกข์ ท่านรู้เองเห็นเอง ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ แล้วก็รู้ดี รู้ไม่ผิด รู้แต่ที่ชอบ ท่านผู้นี้แลชื่อว่า พระพุทธเจ้า แลพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ ต้นไม้มหาโพธิ์มีในที่ต่างๆ นั้น มิใช่พระพุทธเจ้า เป็นแต่เขาทำไว้เป็นที่ไหว้ที่บูชา ไม้มหาโพธิ์นั้น เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าหามิได้ ถ้ามีผู้สงสัยว่าท่านแต่ก่อน ท่านเป็นคนรู้ ท่านว่าไว้ ใครได้ไหว้ ได้บูชา ได้เคารพนับถือพระพุทธรูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ ก็เป็นบุญเป็นกุศลของเหล่านั้นไม่เป็นพระแล้วจะเป็นบุญที่ไหนเล่า ท่านแต่ก่อนๆ แต่ล้วนผู้รู้หนังสือหนังหามาก ทำไมท่านจึงไม่ว่า มาว่าแต่เดี๋ยวนี้ เป็นเด็กๆ จะรู้อะไร เมื่อคิดเช่นนั้นหาชอบไม่ เพราะว่าได้ตรึกตรองแล้ว คำที่ว่า ใครได้ไหว้ ได้บูชา ได้เคารพพระพุทธรูป พระเจดีย์ ไม้พระศรีมหาโพธิ์ ได้บุญนั้นจริงอยู่ ด้วยว่าพระเจดีย์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์ได้ทูลถามว่า ถ้าพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ชนทั้งหลายคิดถึงพระเดชพระคุณจะบูชาในที่ไหน พระองค์ทรงอนุญาตให้กระทำสถูปเจดีย์ไว้ ในที่ประชุมชนไปมา ดังระหว่างถนนใหญ่ทั้งสี่ เป็นต้น เพื่อจะได้เป็นที่ไหว้แลกระทำสักการบูชาแห่งชนทั้งปวง ให้ได้เกิดความเลื่อมใสแห่งจิต สั่งสมอนุสสตานุตตริยกุศล แลบูชามัยบุญราศีของชนเหล่านั้น ผู้ใดได้กระทำสักการบูชาด้วยธูปเทียน แลระเบียบดอกไม้ของหอม เป็นต้น หรือจะอภิวาทกราบไหว้นมัสการ โดยความระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือจะกระทำจิตให้เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย มีความระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นต้น ก็จัดเป็นบุญเป็นกุศลไป เพื่อประโยชน์แลความสุข แก่คนเหล่านั้นตามประสงค์ เพราะเหตุนั้น การที่ไหว้ที่บูชาพระพุทธรูป พระเจดีย์ ไม้พระศรีมหาโพธิ์ ก็เป็นเหตุจะให้เกิดความเลื่อมใสแห่งจิต เป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อผู้ที่ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยแล้ว แลกราบไหว้บูชาเคารพนั้น ก็เป็นเหตุที่จะให้สำเร็จมรรคผลสุขประโยชน์ได้ในปัจจุบัน แลภพเบื้องหน้าตามประสงค์ ก็เป็นบุญเป็นกุศลได้อย่างหนึ่ง.

        จบพระบรมราชานุศาสน์เท่านี้



ปฏิจจสมุปบาทธรรม

        นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส.

ความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระอรหันต์อันประเสริฐ เป็นผู้ตรัสรู้เองชอบ หาครูอาจารย์มิได้ ภควา อันว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาค เมื่อยังมิได้ตรัสแก่พระโพธิญาณ เสด็จอยู่เหนือบัลลังก์รัตนะ ภายใต้ต้นไม้พระศรีมหาโพธิ เป็นท่ามกลางสะดือดิน พระองค์มาผจญเสียแล้วซึ่งมารทั้ง 5 ให้พ่ายแพ้แล้ว ครั้นถึงเวลาปฐมยาม พระองค์ตรัสรู้ซึ่งบุพเพนิวาสญาณ คือ พระปัญญาอันระลึกชาติหนหลัง ได้พิจารณาไปในอดีต ชาติ 1, ชาติ 2, ชาติ 3, ตลอดถึงอเนกชาติ ก็เห็นแท้ว่าชาตินั้นตถาคตได้ไปเกิดที่นั่น มีรูปร่างอย่างนั้น ใหญ่น้อย ดำแดงขาวเหลืองอย่างนั้น ประพฤติการเลี้ยงชีวิตอย่างนั้นๆ ครั้นดับขันธ์จากชาตินั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดที่นั้นๆ พระองค์มีปัญญาสว่างไป มีอุปมาดังโลกธาตุอันหนึ่งมีพระอาทิตย์ขึ้นได้ถึงร้อยดวง ก็เหมือนกัน แลสว่างเป็นอันดี เมื่อพระองค์ได้บุพเพนิวาสญาณ ระลึกชาติในก่อนได้ดังพรรณนามาฉะนี้ ในปฐมยามแล้ว ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยาม พระองค์ได้สำเร็จแก่ทิพพจักขุญาณ อีกทั้งทิพพโสตญาณ คือ มีพระเนตรพระกรรณเปรียบดุจทิพ เมื่อจะดูซึ่งรูปสิ่งใดๆ ก็สำเร็จได้ดังพระทัยปรารถนาทุกประการ ปจฺฉิเม ยาเม เมื่อล่วงเข้าปัจฉิมยาม พระองค์พิจารณาซึ่งปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นอนุโลมปฏิโลมถอยหลัง ตามพระบาลีว่า

        อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ, วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ, นามรูปปจฺจยา ฯ เป ฯ เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ. อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ, สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ ฯ เป ฯ เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ พระบาลีชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรม เหตุว่าแสวงซึ่งธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยสืบๆ กันมาเป็นอาทิดังนี้ คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้บังเกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้บังเกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้บังเกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยต่อเนื่องๆ กันไป ดังนี้ มีอุปมาดังกระแสน้ำไหลหลั่งถั่งมามิรู้ขาด มาตรว่าจะตีฟองนองระลอก อย่างไรก็ดี กระแสน้ำจะได้ขาดจากกันหามิได้ แลมีฉันใด ธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นนั้น ก็เป็นปัจจัยสืบๆ กัน มิได้ขาดจากกัน เอวํเอว มีอุปมาฉันนั้น.

        อวิชชานั้นคือสิ่งอันใด อธิบายว่า อวิชชานั้น ได้แก่ โมโหอันบังเกิดกล้าหุ้มห่อไว้ซึ่งปัญญา มิได้พิจารณาเห็นแจ้งในอริยสัจทั้ง 4 ประการ โมโหนี้ แปลว่า หลง ถ้าจะว่าโดยลักษณะ โมโหมีลักษณะกระทำให้จิตมืดมนอันธการ มักให้เห็นชั่วเป็นดี เห็นผิดเป็นชอบ กิตา วิย มีอุปมาเหมือนตั๊กแตน แลแมลงเม่า อันเห็นเปลวเพลิงแล้วแลยินดีในเปลงเพลิงที่ร้อนนั้น คือ สำคัญว่าเย็นเป็นสุข อุปติตฺวา โผเข้าในเปลวเพลิง ก็ถึงซึ่งพินาศฉิบหาย เพราะเหตุตนเห็นผิดเป็นชอบ ยถา มีฉันใด โมโหนี้เมื่อบังเกิดกล้าในสันดานแล้ว ก็กระทำให้มืดมัวมนไปแล้ว ก็ลุ่มหลงเคลิ้มสติเห็นผิดเป็นชอบ เอวํเอว มีอุปไมยฉันนั้น แลโมโหเมื่อบังเกิดกล้าในสันดานแล้ว ก็ปิดบังพระไตรลักษณณาณไว้มิให้พิจารณาเห็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มิได้พิจารณาเห็นแท้ในพระอริยสัจทั้ง 4 ประการ โมโหนั้นย่อมกำบังไว้ มีครุวนาดังเมฆวลาหกอันปกปิดซึ่งปริมณฑลแห่งพระจันทร์ โมโหอันกล้าหาญเห็นปานดังนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกว่า อวิชชา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เมื่ออวิชชาคือตัวหลงอันกล้าบังเกิดมีอยู่แล้ว ก็เป็นปัจจัยคือ เป็นเหตุที่จะให้บังเกิดสังขาร.

        ก็สังขารนั้น ได้แก่สิ่งอันใด สังขารนั้น แปลว่าตกแต่ง อธิบายว่า กุศลแลอกุศลอันเป็นพนักงานที่จะตกแต่งปฏิสนธิ แลตกแต่งซึ่งผลโดยอันควรแก่กำลังแห่งตนนั้นได้ชื่อว่า สังขาร สังขารนี้มิใช่อื่น คือบุญแลบาปอันติดตามตกแต่งให้บังเกิด ถ้าจะว่าโดยประเภทสังขารนี้มี 3 คือ ปุญญาภิสังขาร 1 อปุญญาภิสังขาร 1 อเนญชาภิสังขาร 1 ปุญญาภิสังขารนั้น ได้แก่ กามาพจรกุศล 8 รูปาพจรกุศล 4 กามาพจรกุศลนั้นเป็นประการใด อธิบายว่า บุคคลยังมิได้สำเร็จแก่ฌานสมาบัติ ได้แต่ศรัทธาเลื่อมใสอุตสาหะบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แลสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาแต่ตามสติปัญญาของตน กุศลอย่างนี้อาจสามารถจะตกแต่งปฏิสนธิแต่มนุษย์คติ แลฉกามาพจรสวรรค์ เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่า กามาพจรกุศล, แลรูปาพจรกุศลนั้น ได้แก่กุศลอันเจริญในรูปฌานทั้ง 4 คือ ปฐมฌาน 1 ทุติยฌาน 1 ตติยฌาน 1 จตุตถฌาน 1 กุศลที่เจริญฌานนี้ อาจสามารถจะตกแต่งปฏิสนธิในพรหมโลกได้ เหตุดังนั้น จึงได้ชื่อว่า รูปาพจรกุศล เป็นใจความว่า กามาพจรกุศลแลรูปาพจรกุศลทั้ง 2 นี้ จัดได้ชื่อว่า ปุญญาภิสังขาร, และอปุญญาภิสังขารนั้น ได้แก่อกุศลจิต 12 ดวง แลเจตสิกบรรดาที่เป็นอกุศลอันเป็นบาปหยาบช้า มีเจตนาในปาณาติบาต เป็นต้นนั้น ถ้าผู้ใดกระทำไว้ ก็ชักนำผู้นั้นให้ไปบังเกิดในอบายภูมิทั้ง 4 คือ นรก เปรตวิสัย อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน จะกระทำให้ได้ความทุกข์ความลำบากในอบายภูมิทั้ง 4 มีประการต่างๆ พ้นจากนั้นแล้ว เมื่อจะขึ้นมาบังเกิดเป็นมนุษย์เล่า ก็ย่อมเป็นคนชาติต่ำช้า ไร้ทรัพย์ อับปัญญา อากูลไปด้วยพยาธิโรคา พยาธิวิบัติอุปัทวะอันตราย ทุกข์ภัยทั้งปวงทั้งหลายต่างๆ นานา กรรมนั้นหยาบช้า ตกแต่งซึ่งผลอันตรายเห็นปานดังนี้ จึงได้ชื่อว่า อปุญญาภิสังขาร แลอเนญชาภิสังขารนั้น ได้แก่ บุคคลอันเจริญอรูปฌาน อรูปฌานนี้ ถ้าผู้ใดเจริญแล้วก็ชักนำผู้นั้นให้ปฏิสนธิในอรูปาพจรทั้ง 4 เป็นพรหมหารูปกายมิได้ มีแต่จิตเจตสิก จิตนั้นตั้งมั่นมิได้หวาดหวั่นไหวในเหตุอันหนึ่งเลย เหตุดังนั้น กุศลที่เจริญอรูปฌานนั้น จึงได้ชื่อว่า อเนญชาภิสังขาร แลสังขารทั้ง 3 นี้ เป็นผู้ตกแต่งค้ำชู แลจะได้เป็นตัวปฏิสนธิให้ผลด้วยตนเองนั้นหามิได้ อุปมาเหมือนนายช่างพระนคร เป็นพนักงานในการที่ตกแต่งพระนครถวายบรมกษัตริย์ จะได้เป็นตัวครอบครองพระนครหามิได้ สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เมื่อสังขารทั้ง 3 ประการ ดังพรรณนามานี้ บังเกิดเป็นเหตุเป็นปัจจัยแล้ว ก็เจริญให้เกิดผลคือ วิญญาณ.

        ก็วิญญาณนั้น ได้แก่สิ่งอันใด อธิบายว่า จิตเป็นพนักงานลงสู่ปฏิสนธิ แลวิบากจิตอันเป็นพนักงานให้ผลเป็นปัตยุบัน นี้แลจัดได้ชื่อว่า วิญญาณ ก็วิญญาณนี้แปลว่า รู้ แต่บรรดาจิตทั้งปวงย่อมมีลักษณะรู้ซึ่งอารมณ์เหมือนกันทั้งสิ้นนั้นแล เพราะเหตุฉะนี้จึงเรียกว่า วิญญาณ วิญญาณนี้มีครุวนาเหมือนสมเด็จบรมกษัตริย์ เมื่อนายช่างตกแต่งพระนครสำเร็จแล้วกาลใด พระองค์ได้อิสรภาพเป็นใหญ่ในการที่จะครองพระนครภารา แลมีฉันใด วิญญาณนี้เมื่อสังขารตกแต่งปฏิสนธิ เข้ารับเป็นพนักงานให้ผลอันร้ายและดีตามสมควร ที่สังขารแต่งให้มี อุปมาดังนี้ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เมื่อวิญญาณบังเกิดเป็นเหตุ เป็นปัจจัย จะได้ยุติแต่เท่านั้นหามิได้ จำเป็นให้บังเกิดผลคือ รูปธรรม นามธรรม.

        รูปธรรมนั้น ได้แก่สิ่งอันใด อธิบายว่า รูปธรรมนั้น ได้แก่ นิปผันนรูป 18 ประการ คือ มหาภูตรูป 4 ปสาทรูป 5 วิสัยรูป 4 ภาวรูป 2 หทัยรูป 1 ชีวิตรูป 1 อาหารรูป 1 เป็น 18 ประการด้วยกัน มหาภูตรูป 4 คือ ธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ปฐวีธาตุ 1 อาโปธาตุ 1 เตโชธาตุ 1 วาโยธาตุ 1 แล้วก็แจกออกไปได้ 41 ประการ คือ ปฐวีธาตุ 19 อาโปธาตุ 12 เตโชธาตุ 4 วาโยธาตุ 6 เข้ากันเป็น 41 ประการ ปฐวีธาตุ 19 ประการนั้น คือ เกสา ผม 1 โลมา ขน 1 นขา เล็บ 1 ทนฺตา ฟัน 1 ตโจ หนัง 1 มํสํ เนื้อ 1 นหารู เอ็น 1 อฏฺฐี กระดูก 1 อฏฺฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูก 1 วกฺกํ ม้าม 1 หทยํ เนื้อหัวใจ 1 ยกนํ ตับ 1 กิโลมกํ พังผืด 1 ปิหกํ ไต 1 ปปฺผาสํ ปอด 1 อนฺตํ ไส้ใหญ่ 1 อนฺตคุณํ ไส้น้อย 1 อุทริยํ อาหารใหม่ 1 กรีสํ อาหารเก่า 1 อาการทั้ง 19 นี้ชื่อว่าปฐวีธาตุ และอาโปธาตุนั้นมี 12 ประการ คือ ปิตฺตํ ดี 1 เสมฺหํ เสลด 1 ปุพฺโพ หนอง 1 โลหิตํ เลือด 1 เสโท เหงื่อ 1 เมโท มันข้น 1 อสฺสุ น้ำตา 1 วสา มันเหลว 1 เขโฬ น้ำลาย 1 สิงฺฆาณิกา น้ำมูก 1 ลสิกา ไขข้อ 1 มุตฺตํ น้ำมูตร 1 อาการทั้ง 12 นี้ชื่อว่า อาโปธาตุ เตโชธาตุมี 4 ประการ คือ สนฺตปฺปคฺคิ 1 ปริทยฺหคฺคิ 1 ปริณามคฺคิ 1 ชิรณคฺคิ 1 เป็น 4 ประการด้วยกัน สนฺตปฺปคฺคินั้น ได้แก่ ไฟธาตุอันเป็นพนักงานกระทำให้อบอุ่นกายแก่สัตว์ทั้งหลาย จึงอุ่นอยู่มิได้เย็น ปริทยฺหคฺคิ นั้น ได้แก่ ไฟธาตุเผากายให้คร่ำคร่าแก่เฒ่าชราลงทุกวัน ปริณมคฺคินั้น ได้แก่ ไฟธาตุอันเป็นพนักงานให้กายร้อนระส่ำระสาย กระวนกระวาย มีประการต่างๆ ชิรณคฺคินั้น ได้แก่ ไฟธาตุอันเป็นพนักงานเผาอาหารให้ย่อยยับ ประสมกันเป็นเตโชธาตุ 4 ประการด้วยกันฉะนี้ วาโยธาตุนั้นมี 6 ประการ คือ อุทฺธงฺคมาวาตา 1 อโธคมาวาตา 1 กุจฺฉิสยาวาตา 1 โกฏฺฐาสยาวาตา 1 องฺคมงฺคานุสาริโนวาตา 1 อสฺสาสปสฺสาสวาตา 1 ก็ลมที่ชื่อว่า อุทฺธงฺคมาวาตา นั้น ได้แก่ลมอันพัดแต่เบื้องบนจนที่สุดเบื้องต่ำ กุจฺฉิสยาวาตานั้น ได้แก่ ลมที่พัดอยู่ในท้อง โกฏฺฐาสยาวาตา นั้น ได้แก่ลมที่พัดอยู่ในสำไส้ องฺคมงฺคานุสาริโนวาตา นั้น ได้แก่ ลมอันพัดแต่พื้นเท้าจนตลอดถึงเบื้องบน อโธคมาวาตานั้น ได้แก่ ลมอันพัดซ่านทั่วสรรพางค์กาย อสฺสาสปสฺสาสวาตา นั้น ได้แก่ลมหายใจเข้าออก ประสมกันเข้าเป็นวาโยธาตุ 6 ประการด้วยกันดังพรรณนามานี้ ได้ชื่อว่า มหาภูตรูป เหตุว่าเป็นใหญ่ เพราะเป็นที่อาศัยแห่งรูปทั้งปวง เปรียบเหมือนถ้ำอันมีอยู่ในภูเขา เป็นที่อาศัยแก่หมู่สัตว์ทั้งปวง เป็นใจความว่า มหาภูตรูปทั้ง 4 นั้น เป็นที่อาศัยแก่รูปทั้งปวง แลประสาทรูป 5 นั้น คือ จักขุประสาท 1 โสตประสาท 1 ฆานประสาท 1 ชิวหาประสาท 1 กายประสาท 1 แลจักขุประสาทนั้น มีลักษณะสัณฐานเท่าศีรษะเหา ตั้งอยู่ท่ามกลางวงตาดำ เป็นพนักงานในที่ให้เห็นรูปสรรพสิ่งทั้งปวง โสตประสาทนั้น มีสัณฐานอันน้อยเท่าขนทรายจามจุรี เป็นวงกลมดุจแว่น ตั้งอยู่ในช่องหูทั้ง 2 เป็นพนักงานในที่จะให้ได้ยินซึ่งเสียงทั้งปวง ฆานประสาทนั้น สัณฐานดังกีบแพะ ตั้งอยู่ท่ามกลางจมูก เป็นพนักงานในที่จะให้รู้จักซึ่งกลิ่นทั้งปวง ชิวหาประสาทนั้น มีสัณฐานดังกลีบดอกบัว ตั้งอยู่ท่ามกลางลิ้น เป็นพนักงานในที่จะให้รู้จักซึ่งรสทั้งปวง กายประสาทนั้น ซาบซ่านอยู่ทั่วสรรพางค์กาย เป็นพนักงานในที่จะให้รู้จักซึ่งสัมผัสอันหยาบแลละเอียด แลเย็นร้อนอ่อนแข็ง ถ้ากายประสาทนั้นพิรุธแล้ว ก็เหน็บชาไปไม่ปกติ แลวิสัยรูป 4 นั้น คือ รูปารมณ์ 1 สัททารมณ์ 1 คันธารมณ์ 1 รสารมณ์ 1 รูปารมณ์นั้น ได้แก่ รูปสรรพสิ่งทั้งปวง คือ รูปอันน้อยอันใหญ่อันหยาบแลละเอียด รูปภายนอกรูปภายในรูปสิ่งใดๆ ก็ดี บรรดาเป็นรูปมาปรากฏแก่จักษุ เป็นอารมณ์แห่งจิตอันยุติในจักขุทวารแล้ว ก็ได้ชื่อว่า รูปารมณ์สิ้นทั้งนั้น สัททารมณ์นั้น ได้แก่ เสียงทั้งปวงอันมาปรากฏแก่หู แลคันธารมณ์นั้น ได้แก่ กลิ่นอันมากระทบนาสิก รสารมณ์นั้น ได้แก่ รสอันมาปรากฏแก่ลิ้น แลภาวรูป 2 นั้น คือ อิตถีภาวรูป 1 ปุริสภาวรูป 1 แลอิตถีภาวรูปนั้น มีสภาวรูปสัณฐานอาการแลจริตเป็นผู้หญิง ปุริสภาวรูปนั้น มีสภาวรูปสัณฐานอาการแลจริตเป็นบุรุษ ถ้าหาสภาวะทั้ง 2 มิได้แล้ว บุคคลผู้นั้นก็เรียกว่ากะเทย หทัยรูปนั้น ได้แก่ดวงหทัย ชีวิตรูปนั้น ได้แก่ ชีวิตินทรีย์อันกระทำชีวิตให้สดชื่น มีอุปมาดุจน้ำเลี้ยงชาติอุบล อาหารรูปนั้น ได้แก่ อาหารที่บริโภค เป็นต้นว่าข้าวน้ำเป็นของบริโภคทั้งปวง ย่อมบำรุงซึ่งกำลังผิวเนื้อแลโลหิตในรูปกายปัตยุบัน รูปกายทั้งหลายดังพรรณนามานี้ จะบังเกิดมีก็อาศัยแก่วิญญาณจิตนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัย แลวิญญาณ คือจิตนั้นจะได้เป็นปัจจัยให้บังเกิดแต่รูปนั้นหามิได้ ย่อมเป็นปัจจัยให้บังเกิดนามธรรมด้วย.

        แลนามธรรมนั้นก็อาศัยแก่ขันธ์ 3 คือ เวทนา 1 สัญญา 1 สังขาร 1 และเวทนาขันธ์นั้น ได้แก่ เวทนาเจตสิกอันเป็นพนักงานในที่จะเสวยอารมณ์อันเป็นสุขเป็นทุกข์แลอุเบกขา เวทนาที่บังเกิดทั่วไปในจิตใจทั้งปวง เหตุดังนั้นจึงจัดเป็นขันธ์อันหนึ่ง สัญญาขันธ์ นั้น ได้แก่ สัญญาเจตสิก มีลักษณะให้รู้ซึ่งสิ่งทั้งปวง อันทั่วไปในสิ่งทั้งปวงเป็นต้น ว่าสีเขียวแดงดำเป็นต้น ให้รู้แต่เป็นเอกเทศเท่านี้ สัญญาเจตสิกนี้เกิดทั่วไปในจิตทั้งปวง เหตุดังนั้นจึงจัดเป็นขันธ์อันหนึ่ง แลสังขารนั้น ได้แก่ เจตสิก 50 ดวง อันเศษจากสัญญาเวทนา เดิมทีนั้นจัดเป็นเจตสิก 52 ดวง ยกเวทนาเจตสิกไปเป็นเวทนาขันธ์เสีย ยกสัญญาเจตสิกไปเป็นสัญญาขันธ์เสียแล้ว ยัง 50 ดวงนั้นจัดเป็นสังขารขันธ์อันหนึ่ง ก็ขันธ์ทั้ง 3 ดังพรรณนามานี้ จะบังเกิดมีก็อาศัยแก่วิญญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เมื่อนามแลรูปมีแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้บังเกิดซึ่งอายตนะ.

        และอายตนะนั้นมี 6 ประการ คือ จกฺขฺวายตน 1 โสตายตน 1 ฆานายตน 1 ชิวฺหายตน 1 กายายตน 1 มนายตน 1 แลจกฺขฺวายตน นั้น ได้แก่จักษุทั้ง 2 อันเป็นที่ปรากฏแห่งรูปารมณ์ทั้งปวง จักษุนี้เปรียบเหมือนบ่อเป็นที่เกิดแห่งรูป เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่า จกฺขฺวายตน โสตายตน นั้น ได้แก่ หูทั้ง 2 เป็นที่ปรากฏแก่เสียงทั้งปวง หูทั้ง 2 นี้เปรียบเหมือนบ่ออันเป็นที่เกิดแห่งเสียง เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่า โสตายตน ฆานายตน นั้น ได้แก่จมูก อันเป็นที่ปรากฏซึ่งกลิ่นทั้งปวงในนาสิก นาสิกนี้เปรียบเหมือนบ่อเป็นที่เกิดแห่งกลิ่นทั้งปวง เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่า ฆานายตน แลชิวฺหายตน นั้น ได้แก่ ลิ้นอันเป็นที่ปรากฏแก่รสทั้งปวง เปรียบเหมือนบ่ออันเป็นที่เกิดแห่งรส เหตุดังนั้นจึงได้ชื่อว่า ชิวฺหายตน แลกายายตน นั้น ได้แก่สรีรกายทั้งปวง กายนี้เป็นที่ปรากฏแก่สัมผัสทั้งปวง อันเย็นแลร้อนอ่อนแลแข็ง เปรียบเหมือนบ่ออันเป็นที่เกิดแห่งสัมผัส เหตุดังนั้น จึงได้ชื่อว่า กายายตน มนายตน นั้น ได้แก่ ดวงหทัย อันเป็นที่ปรากฏแก่ธรรมทั้งหลายอันจะพึงรู้ด้วยจิต หทัยนี้เปรียบเหมือนบ่ออันเป็นที่เกิดแห่งธรรมทั้งปวง เหตุดังนั้นจึงชื่อว่า มนายตน สฬายตนปจฺจยาผสฺโส เมื่ออายตนะมาบังเกิดเป็นเหตุเป็นปัจจัยแล้ว ผัสสะก็บังเกิดมี.

        ผัสสะนั้น ได้แก่ ผัสสเจตสิก อันมีลักษณะถูกต้องซึ่งอารมณ์ เป็นที่ประชุมไว้ซึ่งอารมณ์ทั้ง 6 ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสแลธัมมารมณ์ทั้งปวงอันพึงรู้ด้วยจิต ผัสสเจตสิกนี้บังเกิดทั่วไปในจิตทั้งปวง เมื่อผัสสะบังเกิดมีแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้บังเกิดเวทนา.

        แลเวทนานี้มี 5 ประการ คือ สุขเวทนา 1 ทุกฺขเวทนา 1 โสมนสฺสเวทนา 1 โทมนสฺสเวทนา 1 อุเปกฺขาเวทนา 1 แลสุขเวทนา นั้น แปลว่า เสวยอารมณ์เป็นสุข ทุกฺขเวทนา นั้น แปลว่า เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ โสมนสฺสเวทนา นั้น แปลว่า จิตรื่นเริงบันเทิงใจ โทมนสฺสเวทนา นั้น คือ จิตอันขัดแค้นเคืองใจ อุเปกฺขาเวทนา นั้น คือ จิตไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่โสมนัส ไม่โทมนัส จิตนั้นมัธยัสถ์ เป็นปานกลาง ได้ชื่อว่า อุเบกขาเวทนา เวทนานี้เป็นใหญ่ในที่เสวยอารมณ์ เปรียบเหมือนบรมกษัตริย์อันเสวยกระยาหารที่ต้องพระหทัยประสงค์ เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เมื่อเวทนาบังเกิดมีแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้บังเกิดตัณหา.

        ก็ตัณหานี้ มีอาการ 3 คือ กามตณฺหา1 ภวตณฺหา 1 วิภวตณฺหา 1 กามตณฺหา นั้น คือปรารถนาในกิเลสกาม ภวตณฺหา นั้น คือ ปรารถนาอันเกิดพร้อมด้วย สฺสสตทิฏฐิ อันมีลักษณะให้เห็นว่าสัตว์เที่ยงโลกเที่ยง สัตว์ทั้งปวงนี้ตายแล้วเกิดอีกเวียนไปเวียนมา ไม่สาบสูญตั้งอยู่เป็นเที่ยงแท้ดังนี้ เมื่อความปรารถนากิเลสกามนั้นพร้อม สฺสสตทิฏฐิ ดังนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่า ภวตณฺหา และวิภวตณฺหา นั้น ได้แก่ ความปรารถนาเกิดพร้อมด้วย อุจฺเฉททิฏฐิ อันมีลักษณะให้เห็นว่า สัตว์ทั้งปวงตายแล้วไม่เกิดอีกเลย เมื่อความปรารถนากิเลสกาม และวัตถุกามบังเกิดพร้อมด้วยอุจฺเฉททิฏฺฐิ ก็ได้ชื่อว่า วิภวตณฺหา แลตัณหาทั้ง 3 ประการ แต่ละอันๆ แจกออกไปเป็นตัณหาภายใน 6 หนึ่ง ภายนอก 6 หนึ่ง หกหนเป็น 36 จึงแจกออกเป็นอดีตตัณหา 36 อนาคตตัณหา 36 ปัตยุบันตัณหา 36 ประสมเข้ากันจึงเป็นตัณหา 108 ประการ ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เมื่อตัณหาบังเกิดเป็นปัจจัยแล้ว อุปาทานํ คือจิตอันถือมั่นในตัณหา ก็บังเกิดค้ำชูตัณหานั้นขึ้นไป.

        อุปาทานนั้นมี 4 ประการ คือ กามุปาทาน 1 ทิฏฺฐุปาทาน 1 สีลวตฺตุปาทาน 1 อตฺตวาทุปาทาน 1 แลกามุปาทาน นั้น คือ ถือมั่นในกิเลสกามแลวัตถุกาม ทิฏฺฐุปาทาน นั้น คือ จิตถือมั่นในสสฺสตทิฏฺฐิ แลอุจฺเฉททิฏฺฐิ สีลวตฺตุปาทาน นั้น คือจิตถือมั่นในลัทธิเดียรถีย์นิครนถ์ แลครูต่างๆ บรรดาเป็นคนถือภายนอกพระพุทธศาสนา อตฺตวาทุปาทาน นั้น คือ จิตถือมั่นว่าตัวว่าตน อุปาทานปจฺจยา ภโว เมื่ออุปาทานบังเกิดแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้บังเกิดภพ.

        ภพนั้นมี 2 ประการ คือ กามภพ 1 อุปปตฺติภพ 1 กามภพนั้น ได้แก่ สัญญาเจตนาอันเกิดพร้อมด้วยจิต ซึ่งเป็นกุศลแลอกุศล ได้ชื่อว่ากามภพ แลอุปปตฺติภพ นั้น ได้แก่ อบายภูมิทั้ง 4 มนุษย์ 1 กามาพจรสวรรค์ 6 เป็น 11 ด้วยกัน รูปภพ นั้น ได้แก่รูปพรหม 16 ชั้น อรูปภพ นั้น ได้แก่ อรูปพรหม 4 ชั้น แต่ถ้าว่าในที่นี้ท่านประสงค์เอาแต่กามภพ เหตุว่า กามภพนี้เป็นปัจจัยให้บังเกิดชาติ ภวปจฺจยาชาติ เมื่อกามภพมีแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ.

        ชาตินั้นคือ อุปปตฺติภพ อธิบายว่า การที่ถือเอากำเนิดเวียนเกิดอยู่ในภพนั้นแล ได้ชื่อว่าชาติ ชาติปจฺจยา ชรามรณํ โสกปริเทว ทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ เมื่อชาติให้ถือเอากำเนิดเวียนเกิดอยู่ในภพแล้ว ก็เป็นเหตุจะให้เกิดมีความแก่เฒ่าชรา โรคพยาธิความโศกเศร้า มีพิลาปร่ำไร บังเกิดความสลดระทดใจ แลโทมนัสขัดเคืองแค้น สะอื้นอาลัยทั้งปวง ความทุกข์ทั้งหลายจะบังเกิดก็อาศัยแก่ชาติ ชาติจะมีก็อาศัยแก่ภพ ภพจะมีก็อาศัยแก่อุปาทาน อุปาทานจะมีก็อาศัยแก่ตัณหา ตัณหาจะมีก็อาศัยแก่เวทนา เวทนาจะมีก็อาศัยแก่ผัสสะ ผัสสะจะมีก็อาศัยแก่อายตนะ อายตนะจะมีก็อาศัยแก่นามรูป นามรูปจะมีก็อาศัยแก่วิญญาณ วิญญาณจะมีก็อาศัยแก่สังขาร สังขารจะมีก็อาศัยแก่อวิชชา อวิชชานี้เป็นต้นเป็นเดิม.

        ถ้าอวิชชาดับแล้ว สังขารก็ดับ สังขารดับแล้ว วิญญาณก็ดับ วิญญาณดับแล้ว นามรูปก็ดับ นามรูปดับแล้ว อายตนะก็ดับ อายตนะดับแล้ว ผัสสะก็ดับ ผัสสะดับแล้ว เวทนาก็ดับ เวทนาดับแล้ว ตัณหาก็ดับ ตัณหาดับแล้ว อุปาทานก็ดับ อุปาทานดับแล้ว ภพก็ดับ ภพดับแล้ว ชาติก็ดับ ชาติดับแล้ว ความแก่ชราพยาธิอุปัทวะ อันตรายทั้งปวง คือ ความพิลาปร่ำไร แลความระทดใจก็ดับสูญสิ้นทุกประการ ด้วยอาศัยแก่อวิชชาเป็นเดิม.

        พระทรงพิจารณาพระปฏิจจสมุปบาทธรรม ที่มีสับเขป 4 คือ อวิชชากับสังขาร จัดเป็นสังเขป 1 วิญญาณแลนามรูป สฬายตนะผัสสะเวทนา จัดเป็นสังเขป 1 ตัณหาอุปาทานแลภพ จัดเป็นสังเขป 1 ชาติ ชรา มรณะ จัดเป็นสังเขป 1 สังเขปนี้ แปลว่าย่ออยู่ไม่วิตถาร กว้างขวาง อธิบายว่า ถ้าจะแสดงโดยย่อ ยกแต่สังเขปเบื้องต้นขึ้น กระแสธรรมก็ตลอดถึงปลาย ถ้ายกแต่สังเขปเบื้องปลายขึ้นเล่า กระแสธรรมก็ตลอดถึงต้น ถ้ายกแต่สังเขปกลางขึ้นเล่า กระแสธรรมก็ตลอดถึงเบื้องต้นเบื้องปลาย วลฺลึ ฉินฺทิตฺวา วิย มีครุวนาดุจบุคคลตัดเครือเถาลดาวัลย์ แต่ต้นฉุดกระชากไปก็ไหวตลอดปลาย จับแต่ปลายฉุดไปก็ไหวตลอดต้น จับท่ามกลางก็ไหวตลอดทั้งเบื้องต้นแลเบื้องปลาย ถ้าจะจัดโดยกาล อวิชชากับสังขารเป็นอดีตกาล เหตุว่าเกิดก่อน เป็นอดีตแล้วเป็นปัจจัยให้บังเกิดธรรมทั้งปวง มีวิญญาณเป็นต้น แลธรรมทั้งหลาย 9 ประการ มีวิญญาณเป็นต้น มีชาติเป็นที่สุดนั้น จัดเป็นปัตยุบันกาล เหตุว่าเกิดในปัตยุบันนิรันดร ชรา มรณะ นั้น จัดเป็นอนาคตกาล เหตุว่าบังเกิดในเบื้องหน้าแต่ปัตยุบัน ถ้าจะจัดสนธิคือที่ต่อนั้น สนธิ 3 ระหว่างสังเขปเบื้องต้นกับสังเขปที่ 2 ต่อกัน จัดเป็นสนธิ 1 ระหว่างสังเขปที่ 2 กับสังเขปที่ 3 ต่อกันจัดเป็นสนธิ 1 ระหว่างสังเขปที่ 3 กับสังเขปที่ 4 ต่อกัน จัดเป็นสนธิ 1 เข้ากันเป็นสนธิ 3 ฉะนี้.

        ถ้าจะว่าโดยอาการ มีอาการ 20 คือ อดีตเหตุ 5 ปัตยุบันผล 5 ปัตยุบันเหตุ 5 อนาคตผล 5.

        แลอดีตเหตุ 5 นั้น คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน แลภพ ที่เกิดแล้วในชาติหลัง เป็นเหตุให้บังเกิดปัตยุบันผล 5 คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน แลภพในปัตยุบันนี้ แล้วจัดเอาอวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพในปัตยุบันนี้ขึ้นเป็นปัตยุบันเหตุ 5 ประการ เหตุว่าเป็นปัจจัยให้บังเกิดในอนาคตผล 5 ประการ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน แลภพอันจะพึงมีในอนาคตนั้น.

        ถ้าจะจัดโดยองค์ มีองค์ 12 ประการคือ อวิชชา 1 สังขาร 1 วิญญาณ 1 นามรูป 1 สฬายตนะ 1 ผัสสะ 1 เวทนา 1 ตัณหา 1 อุปาทาน 1 ภพ 1 ชาติ 1 ชรามรณะ 1 จึงเป็นองค์ 12 ประการ ถ้าจะจัดโดยมูลนั้น มีมูล 2 ประการ คือ อวิชชา 1 ตัณหา 1 ก็อวิชชา ตัณหา 2 ประการนี้ เปรียบเหมือนดุมแห่งจักร สังขารทั้ง 3 ประการ ประดุจกำ ชรามรณะประดุจกง อาสวะอันเป็นเดิมเกิดอวิชชานั้นประดุจเพลา ภพทั้ง 3 ประดุจดังเรือนรถ เมื่อบุคคลขับรถไปหันเหียนเวียนไปไม่รู้สิ้นไม่รู้สุดฉันใด ธรรมทั้งหลาย คือว่าปฏิจจสมุปบาทธรรมนี้ เมื่อยังพร้อมบริบูรณ์อยู่แล้ว ก็ย่อมพัดผันหันเหียนเวียนไปในสังสารวัฏไม่มีที่สุด ดังนั้น ต่อเมื่อใดชำระสันดานให้สิ้นจากอวิชชา คือ ความที่มิได้รู้สภาวธรรมที่แท้ที่จริงโดยตรง พิจารณาจนเกิดปัญญารู้แจ้งในพระอริยสัจทั้ง 4 เหนื่อยหน่ายในวัฏสงสารตามลำดับแห่งญาณทั้ง 9 ประการ จนถึงสังขารุเบกขา เจริญพระวิปัสสนาญาณให้แกล้วกล้าดำเนินขึ้นไปๆ ตราบเท่าถึงมรรควิถีอนุโลมญาณเป็นพนักงานชำระซึ่งอกุศล เป็นต้นว่าอวิชชากระทำซึ่งพระนิพพานได้ปรากฏแจ้ง วาโต วิย ประดุจดังลมพัดกำจัดเสียซึ่งเมฆ ให้ปราศจากปริมณฑลพระจันทร์ กระทำให้พระจันทร์แจ่มแจ้งบริสุทธิ์เป็นอันดี นักปราชญ์พึงรู้ได้โดยอุปมาว่า มณฑลพระจันทร์บริสุทธิ์แจ่มแจ้งอุปมาดังพระนิพพาน แลโคตรภูญาณนั้นมีกิจพิจารณาเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ จกฺขุมา ปุริโส วิย เปรียบเหมือนโหรอันดูนักขัตฤกษ์ แลพิจารณาปริมณฑลพระจันทร์เป็นอารมณ์ เมื่อโคตรภูญาณบังเกิดกล้า พิจารณาเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้แล้ว ก็ย่างขึ้นถึงพระโสดาปัตติมรรคญาณ ละเสียซึ่งสักกายทิฏฐิ แลวิจิกิจฉาสีลพัตตปรามาส ให้ปราศจากสันดานเป็นสมุจเฉทปหาน สักกายทิฏฐินั้น คือทิฏฐิความเห็นว่าตัวว่าตน อหังการ มมังการ วิจิกิจฉา นั้น คือสงสัยสนเท่ห์ สีลพัตตปรามาสนั้นคือถือลัทธิข้างถือผิด บูชาเทวดาแลถือลัทธิของครูต่างๆ นับถือว่าประเสริฐกว่าพระพุทธศาสนา อกุศลทั้ง 3 ประการนี้ พระพุทธเจ้าละเสียได้ด้วยอำนาจพระโสดาปัตติมรรคญาณ แล้วพระองค์ก็เจริญพระวิปัสสนา ให้ดำเนินแก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับๆ กัน เหมือนอย่างดำเนินในทางข้างโสดาปัตติมรรคนั้น เมื่อย่างขึ้นถึงสกทาคามิมรรคแล้ว ก็ประหารเสียได้ซึ่งกามราคะ 1 พยาบาท 1 โดยที่หยาบๆ ราคะนั้นแปลว่า มีความกำหนัดยินดี คือ กำหนัดยินดีในกิเลสกามแลวัตถุกาม จึงจัดได้ชื่อว่ากามราคะ พยาบาทนั้น คือ โทโสอันกล้าหาญ คือการที่ผูกเวรจองเวร พระพุทธเจ้าท่านละเสียซึ่งกามราคะ พยาบาท ด้วยอำนาจพระสกทาคามิมรรคนั้นได้ แต่หยาบๆ ที่อย่างละเอียดนั้นยังละมิได้ ครั้นพระองค์เจริญพระวิปัสสนาให้แก่กล้าขึ้นไป สำเร็จพระอนาคามิมรรคแล้ว จึงได้ละเสียซึ่งกามราคะที่อย่างละเอียดนั้น โทษจิตนั้นก็ดับสูญสิ้น พระองค์เจริญพระวิปัสสนาให้แก่กล้าขึ้นไป ก็สำเร็จแก่พระอรหัตตมรรคญาณ ประหารเสียซึ่งกองกิเลส แต่บรรดาที่ยังเหลืออยู่นั้น ให้อันตรธานสูญสิ้นหาเศษมิได้ แล้วพระองค์ก็ตรัสรู้ซึ่งพระโพธิญาณ อันประกอบไปด้วยจตุเวสารัชชาธิคุณอันยิ่ง เสมอด้วยคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ก่อนมา มิได้ยิ่งหย่อนแก่กันเลย.

        ปฏิจจสมุปบาทธรรมจบแต่เพียงนี้


books@mahamakuta.inet.co.th
Mahamakuta Rajavidyalaya Foundaion
Under Royal Patronage
241 Phra Sumeru Rd, Bangkok 10200
Tel. (66) 02-6291417 , 2811085 Fax. (66) 02-6294015